xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เผยฉากทัศน์ สธ.คาดหากคลายล็อกดาวน์-คุมไม่ดี อาจทำยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง 3 หมื่นรายต่อวัน ยอดฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพิ่มเพียง 660 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ 13,988 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 17,284 ราย กำลังรักษาอยู่ 148,622 ราย ผู้เสียชีวิตวันนี้อายุน้อยสุด 13 ปี มีโรคประจำตัว พบเสียชีวิตที่บ้าน 1 คน เผยฉากทัศน์คาดการณ์หากคลายล็อกดาวน์และถ้าคุมไม่ดี ผู้ติดเชื้ออาจแตะที่ 3 หมื่นรายต่อวัน ในปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนต.ค. ส่วนยอดฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 เพิ่มเพียง 660 ราย

วันนี้ (6 ก.ย.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,988 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 13,544 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 444 ราย สะสม 1,294,522 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 17,284 ราย สะสม 1,132,858 ราย กำลังรักษาอยู่ 148,622 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 44,954 ราย และโรงพยาบาลสนาม 103,668 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,601 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,013 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 187 ราย รวมเสียชีวิต 13,042 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 13,988 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,561 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,966 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 444 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 17 ราย

ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 5 กันยายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 35,912,894 โดส วันที่ 5 กันยายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 129,317 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 195,241 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 660 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแบบจำลองคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่า จากการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ได้รับความร่วมมือ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ระดับหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการเข้มข้นที่ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและผู้ประกอบ และประชาชน แต่ศบค.มีการปรับมาตรการ จึงเห็นบรรยากาศที่ประชาชนเข้าห้างสรรพสินค้าไปซื้อของ จึงขอฝากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี การ์ดอย่าตก เพราะหากคุมสถานการณ์ไม่ดีอาจเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นในเดือนต.ค. วันละ 3 หมื่นรายได้

“ตามการคาดการณ์ จะมีแรงเฉื่อยปลายเดือนนี้ และต้นเดือนตุลาคม เส้นเหล่านี้จะพุ่งขึ้น หมายถึงว่า จะมีคนไข้ที่ป่วยมากขึ้นกว่านี้อีก ตรงนี้แหละครับน่ากลัว ถ้าคุมไม่ดีจะไปแตะที่ 3 หมื่นรายต่อวันได้เช่นเดียวกัน”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 187 ราย ชาย 101 ราย หญิง 86 ราย เป็นชาวไทย 181 ราย เมียนมา 4 ราย จีน 1 ราย อเมริกัน 1 อายุค่ากลาง 70 ปี อายุน้อยสุด 13 ปี อายุมากสุด 95 ปี

แบ่งเป็น กทม. 24 ราย ชลบุรี 20 ราย สมุทรสาคร 17 ราย ปทุมธานี 16 ราย พระนครศรีอยุธยา 12 ราย นครปฐม อ่างทอง จังหวัดละ 11 ราย สระบุรี 13 ราย สระบุรี 10 ราย สมุทรปราการ สุพรรณบุรี จังหวัดละ 5 ราย นนทบุรี ปัตตานี สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 4 ราย ชัยภูมิ ตาก ระนอง ลพบุรี สมุทรสงคราม 3 ราย เชียงราย นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย มหาสารคาม อุบลราชธานี นครราชสีมา พิษณุโลก สตูล พัทลุง ยะลา ตรัง ราชบุรี ระยอง นครนายก ตราด เพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พบผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป 131 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 41 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 14 ราย เด็กอายุ 13 ปี จ.ตาก มีโรคประจำตัว เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย จ.ระยอง ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อจากคนรู้จัก คนในครอบครัว

ส่วนแบบจำลองจากกระทรวงสาธารณสุข ที่คาดการณ์ผู้เสียชีวิตกับตัวเลขคาดการณ์จากมาตรการล็อกดาวน์ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเสียชีวิตประมาณ ต.ค. พุ่งขึ้นอีก แต่ไม่สูงเท่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นผลจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ และฉีดวัคซีนให้กับ 8 กลุ่มโรค

สำหรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศวันนี้ไม่พบลักลอบเข้าผ่านทางช่องทางธรรมชาติ

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 6 ก.ย. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 3,610 ราย 2. สมุทรปราการ 868 ราย 3. สมุทรสาคร 711 ราย 4. ชลบุรี 703 ราย 5. เพชรบูรณ์ 488 ราย 6. ระยอง 464 ราย 7. นนทบุรี 300 ราย 8. พระนครศรีอยุธยา 294 ราย 9. นครราชสีมา 278 ราย 10. ราชบุรี 267 ราย

สำหรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3,610 ราย ที่อยู่ขณะป่วยอยู่ในกทม. 3,169 ราย ที่อยู่ขณะป่วยอยู่ต่างจังหวัดเข้ารักษาโรงพยาบาลในกทม. 441 ราย มี 10 อันดับเขต ที่พบผู้ป่วยสูงสุด ดังนี้ 1. หลักสี่ 135 ราย 2. จอมทอง 132 ราย 3. บางกะปิ 125 ราย 4. บางขุนเทียน 101 ราย 5. บางคอแหลม 101 ราย 6. หนองแขม 96 ราย 7. ประเวศ 92 ราย 8. บางบอน 90 ราย 9. ธนบุรี 89 ราย 10. บางแค 89 ราย


ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 1,265,659 ราย หายป่วยสะสม 1,105,432 ราย เสียชีวิตสะสม 12,948 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 221,542,850 ราย อาการรุนแรง 105,498 ราย รักษาหายแล้ว 198,036,657 ราย เสียชีวิต 4,581,744 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 40,805,259 ราย
2. อินเดีย จำนวน 33,027,136 ราย
3. บราซิล จำนวน 20,890,779 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 7,012,599 ราย
5. สหราชอาณาจักร 󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 จำนวน 6,978,126 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 29 จำนวน 1,294,522 ราย
























กำลังโหลดความคิดเห็น