กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ระดมทีมสำรวจ ติดตามการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ผ่านกลไกทำงาน 3 หมอ ตั้งเป้า “ลดป่วยรุนแรง ลดตาย รักษาหายเร็ว” ในประชาชนกลุ่มเปราะบางทั่วไทย
วันนี้ (3 ก.ย.) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การระบาดของเชื้อโรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เป็นไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ด้วยการที่เชื้อโรคโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและกลายพันธุ์จนเกิดเป็นสายพันธุ์อัลฟา (Alpha) และเดลตา (Delta) ซึ่งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ มีการแพร่ระบาดง่าย และก่อให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนชรา ผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การที่ประเทศไทยจะก้าวพ้นวิกฤติการระบาดของโรคติดต่ออันตรายไปได้นั้น
นอกจากจะต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเหมาะสมแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วย “ลดป่วยรุนแรง ลดตาย รักษาหายเร็ว” ดังนั้น กรม สบส.จึงประสานขอความร่วมมือจาก อสม. ทีมนักรบเสื้อเทา ร่วมสำรวจ ติดตาม การฉีดวัคซีนของกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยาก ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง / หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 2.9 ล้านคน ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยอาศัยกลไก 3 หมอ ซึ่ง อสม.ในบทบาทของหมอคนที่ 1 ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมีบทบาทในการเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยงสังเกตอาการ อำนวยความสะดวกในการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นหมอคนที่ 2 และประสานกับหมอคนที่ 3 คือ หมอครอบครัวที่โรงพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีน และติดตามอาการไม่พึงประสงค์แก่กลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2564 อสม.ได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ และสนับสนุนกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ประมาณร้อยละ 30 ของกลุ่มเป้ามหาย แบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 621,754 ราย กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค จำนวน 261,454 ราย และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 3,593 ราย (ข้อมูลจาก www.thaiphc.net วันที่ 3 กันยายน 2564) และเมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ครบถ้วนแล้วลำดับถัดไป อสม.ก็จะดำเนินการติดตาม สำรวจ ประชาชนในกลุ่มอายุ 18-59 ปี ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต่อไป
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า ในการส่งเสริมให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 นอกจากวัสดุ อุปกรณ์ หรือกำลังคน องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยให้การดำเนินงานเกิดผลสำเร็จ ซึ่งกรม สบส.ก็ได้ให้การสนับสนุนชุดความรู้ผ่านเครือข่าย อสม.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็มีการจัดทำชุดความรู้แนวคิด Universal Prevention ป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล ส่งต่อให้ อสม.นำไปใช้ให้เกิดความ “พร้อม” ในการปฏิบัติงานทั้งในด้านการดูแลตนเอง เกิดการตั้งสติคิดว่าทุกคนคือผู้ติดเชื้อ เพิ่มความระมัดระวังขณะปฏิบัติงานหรือใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง และความพร้อมในฐานะหมอคนที่ 1 ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation) มีการเตรียมความพร้อมของตัวเองทั้งร่างกาย จิตใจ องค์ความรู้เรื่องโควิด 19 และวัสดุอุปกรณ์ ซึ่ง อสม.จะมีการนำแนวคิดในการป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาลไปรณรงค์ให้ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติตามด้วย