กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยจะได้วัคซีนโควิดปี 2564 มากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส แอสตร้าฯ แนวโน้มส่งมอบเพิ่มเป็น 7.2 ล้านโดสเดือนหน้า ย้ำเป็นคนละส่วนกับแผนจัดหาปี 2565 ที่จะหาเพิ่มเป็น 120 ล้านโดส เป็นไฟเซอร์และแอสตร้าฯ ยี่ห้อละ 50 ล้านโดส ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงสัญญาฉบับใหม่ เตรียมฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนที่ได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็มเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงก่อนในช่วงปลายปีนี้
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 และการติดตามฉีดวัคซีน โดยนายแพทย์โอภาสกล่าวว่า ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ - 20 สิงหาคม 2564 ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 26,428,101 โดส สัปดาห์ที่ผ่านมาฉีดได้วันละ 5 - 6 แสนโดส โดยกลุ่มบุคลากรการแพทย์ทุกคนฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและ อสม.ฉีดเข็มแรกแล้ว 50 – 60 % สำหรับกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มแรกแล้วกว่า 30 % ที่สำคัญคือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ยังฉีดได้น้อยเพียง 4 % จึงขอให้ไปรับการฉีดวัคซีน ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยยืนยันว่ามีความปลอดภัย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนโควิด-19 ตามแผนการจัดหา 2564 ได้สั่งจองแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 30 ล้านโดส รวมทั้งซิโนแวคอีก 30 ล้านโดส ที่นำมาฉีดในสถานการณ์ระบาดและสูตรฉีดไขว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูงในเวลารวดเร็ว ทำให้ปีนี้มีวัคซีนมากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส โดยในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการลงนามสัญญาจองล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนการผลิตวัคซีนจะสำเร็จ เงื่อนไขในสัญญาจึงระบุว่า จะเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยต้องเจรจาจำนวนที่ต้องการเป็นรายเดือน และขึ้นกับจำนวนวัคซีนที่บริษัทผลิตได้ ซึ่งตั้งแต่มิถุนายน – สิงหาคม ได้รับเฉลี่ยเดือนละ 5 - 6 ล้านโดส ทั้งนี้ ไทยได้แสดงเจตจำนงต้องการวัคซีนมากขึ้น และบริษัทมีแนวโน้มจะส่งวัคซีนเพิ่มเป็น 7.2 ล้านโดสในเดือนกันยายน และคาดว่าจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นในเดือนต่อไป
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับปี 2565 ศบค.เห็นชอบแผนจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดสเพื่อฉีดให้ครอบคลุมกลุ่มเด็ก และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกรูปแบบ ทั้ง mRNA, Viral vector, เชื้อตาย และอื่น ๆ โดยจะนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 50 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้าอีก 50 ล้านโดส โดยหากบริษัทผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 สำเร็จ มีข้อมูลรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะให้ส่งมอบเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งทั้งปริมาณ กำหนดการส่ง และราคา อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และทำข้อตกลงสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งสัญญาของปี 2564 ไม่เกี่ยวเนื่องกับปี 2565 และไม่เกี่ยวข้องกันตามที่สื่อโทรทัศน์บางแห่งได้กล่าวอ้าง
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มค่อนข้างคงที่ วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,571 ราย เสียชีวิต 261 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 175 ราย คิดเป็น 67% ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 55 ราย คิดเป็น 21% หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย 1 ราย เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่า ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 5.9 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด 26 ราย ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 4.4 ต่อประชากรล้านคนที่ได้วัคซีนครบ 2 เข็ม
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม จึงจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไขว้กับแอสตร้าเซนเนก้า (S+A) มีภูมิคุ้มกัน 78 หน่วย มากกว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (A+A) ที่ได้ภูมิคุ้มกัน 76.52 หน่วย จึงขอให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว
โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขใช้สูตรซิโนแวคไขว้กับแอสตร้าเซนเนก้า (S+A) ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้เร็วและสูงมาก ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำลังเตรียมการหารือในประเด็นนี้ คาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงก่อนในช่วงปลายปีนี้ที่จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น