โรงพยาบาลบุษราคัม เตรียมขยายพื้นที่เปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต (ทับทิม) เพิ่ม 32 เตียง ดูแลผู้ป่วยโควิดที่ใช้เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ใกล้ชิด ลดการใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มอัตราการรอดชีวิต คาดใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 10 วัน
วันนี้ (18 ส.ค.) นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม ให้สัมภาษณ์ ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2564 (24.00 น.) โรงพยาบาลบุษราคัม มีผู้ป่วยนอนรักษาตัว 3,526 ราย จากจำนวนเตียงที่มีทั้งหมด 3,700 เตียง ถือว่าเต็มศักยภาพของโรงพยาบาล ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอ่อน 3,196 ราย, สีเหลือง 221 ราย และสีแดง 109 ราย ในจำนวนนี้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ชนิดออกซิเจนไฮโฟลว์ จำนวน 103 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ จำนวน 6 ราย เนื่องจากผู้ป่วยสีแดงเพิ่มมากขึ้น และจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ (กึ่งวิกฤต) มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 63 ขณะที่ผู้ป่วยที่ใช้ท่อช่วยหายใจ (วิกฤต) รอดชีวิตร้อยละ 26 ดังนั้นหากผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด จะช่วยลดการเข้าสู่ภาวะวิกฤต ลดการใส่ท่อช่วยใจ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลบุษราคัม จึงได้เตรียมแผนขยายพื้นที่เปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต (ทับทิม) เพิ่มอีก 32 เตียง ดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ หลังจากที่ได้ตั้งหอผู้ป่วยวิกฤต (โกเมน) ระบบความดันลบ 17 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตต้องใช้ท่อช่วยหายใจ เพื่อลดการเคลื่อนย้าย ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตและกึ่งวิกฤตอย่างใกล้ชิด โดยมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งดำเนินการปรับปรุงสถานที่ โดยใช้พื้นที่ว่างด้านนอกหอผู้ป่วยเดิม ติดตั้งห้องความดันลบ ระบบไฟฟ้าและก๊าซทางการแพทย์ พร้อมนำอุปกรณ์การแพทย์ตามมาตรฐานเข้า โดยจะแล้วเสร็จภายใน 10 วัน