xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.รพ.บุษราคัม แจงเชิญ"บังซา"ออกตามมาตรฐาน อยู่ครบ 7 วัน ยันไม่เกี่ยวปมไลฟ์สด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงความคืบหน้าการให้บริการของโรงพยาบาลฯ ผ่านระบบ Webex ว่า ตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ อนุญาตให้ผู้ป่วยอาการน้อย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน และวันที่ 8 ต่อไปสามารถกลับไปรักษาตัวเองที่บ้านได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาดสูง เนื่องจากจะต้องใช้เตียงให้ผู้ป่วยรายใหม่ ดังนั้นผู้ป่วยอาการน้อยที่ไม่รุนแรง เมื่อติดเชื้อครบ 7 วัน โดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่รุนแรงขึ้น อาการจะดีขึ้น ซึ่งสามารถกลับบ้านไปกักตัวต่อที่บ้านได้

ส่วนผู้ป่วยที่รักษาครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานของกรมการแพทย์ ก็ไม่จำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อ RT-PCR ซ้ำ เนื่องจากอาจเจอซากเชื้อ ที่เมื่อตรวจก็จะพบว่ามีผลบวกอีก ทั้งนี้ จะให้ใบรับรองแพทย์ว่า ผู้ป่วยมีการรักษาในโรงพยาบาลครบกำหนดแล้ว

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้า โรงพยาบาลบุษราคัม จะเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ เพื่อสื่อสารกับประชาชน เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนถึงสถานการณ์ภายในโรงพยาบาล พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยทั่วไปแล้วถือว่าพื้นที่ในโรงพยาบาลบุษราคัม เป็นโรงพยาบาล ดังนั้น การถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะภาพผู้ป่วย ภาพเจ้าหน้าที่ในระหว่างการปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดสิทธิ แม้กระทั่งผู้ป่วยถ่ายภาพผู้อื่นภายในโรงพยาบาลเอง ก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันกับโรงพยาบาลทั่วไป

ขณะเดียวกัน นายแพทย์กิตติศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่อาสาสมัคร "บังซา" ไลฟ์สดในโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งภายหลัง บังซา เปิดเผยว่าตนถูกเชิญออกจากโรงพยาบาลนั้น ยืนยันว่า เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยของกรมการแพทย์ ที่ผู้ป่วยอยู่ครบ 7 วันแล้วก็สามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้ เตียงมีความสำคัญมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยรายอื่นที่รอเตียงเข้ามา ซึ่งยืนยันว่าการปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิบัติเฉพาะทีมของผู้ไลฟ์สด แต่เป็นการปฏิบัติตามปกติในการดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลต้องขอขอบคุณที่บังซา มีการสะท้อนแง่มุมภาระงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่ได้เห็นว่ามีการตำหนิเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการนำเสนอที่อาจจะต้องการให้มีความน่าสนใจ จึงมีการใช้คำพูดที่รุนแรง แต่เชื่อว่าไม่ได้มีเจตนาอะไร