xs
xsm
sm
md
lg

หยุดเรียน 1 ปี หรือเปลี่ยนวิธีประเมิน!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โควิด-19 นี่จะทำให้ต้องหยุดเรียนกัน 1 ปีเลยหรือ ?

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงการศึกษามีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเรื่องมีข้อเสนอที่ฮือฮาจากนักวิชาการให้ “หยุดการเรียนการสอนไป 1 ปี” เพราะถ้าต้องเรียนออนไลน์ต่อไปอีก การเรียนจะไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ ซึ่งก็มีข้อมูลระบุถึงผลวิจัยว่าเด็กไทยเครียด โดดเรียนออนไลน์กว่า 20 % และเปิดผลสำรวจทั่วโลกที่ชี้ว่าการเรียนออนไลน์ 1 ปีอาจทำให้เกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20-50 %

เรียกว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับเรื่องนี้ใกล้เคียงกัน เพราะเด็ก ๆ กำลังเผชิญกับความทุกข์จากการเรียนออนไลน์

เพื่อนที่มีพ่อแม่ลูกเล็กก็จะบ่นมากหน่อย เพราะแทบจะต้องอยู่กับลูกที่บ้านและเรียนไปพร้อมกับลูก ถ้าพ่อแม่ทำงานด้วยก็จะมีรายละเอียดของปัญหามากขึ้นไปอีก ส่วนพ่อแม่ที่มีลูกโตก็มีปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงานเยอะ การบ้านเยอะ ทำเท่าไหร่ก็ไม่หมด เรียกว่าเด็กๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับไปเรียนที่โรงเรียน ไม่อยากเรียนผ่านออนไลน์ด้วยสารพัดเหตุผล เช่น เรียนยากขึ้น เรียนไม่รู้เรื่อง งานเยอะ เรียนได้แย่ลง อยากเจอเพื่อน อยากทำกิจกรรม ฯลฯ

ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น ในต่างประเทศก็ประสบปัญหาเดียวกับบ้านเรา

ฉะนั้น พอมีกระแสของข้อเสนอข้างต้น จึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กับคนทุกเพศทุกวัย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้

เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนผ่านออนไลน์มีปัญหามากมาย และด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาปีครึ่งก็ผ่านความเครียดมามิใช่น้อย ซึ่งถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเรียนออนไลน์ไปถึงเมื่อไหร่ ก็ยิ่งต้องทำให้เกิดภาวะความเครียดกับเด็กทุกระดับ ซึ่งหมายรวมไปถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง

แต่ถ้าจะบอกว่าการเรียนออนไลน์ทำให้การเรียนไม่มีประสิทธิภาพ การหยุดเรียน 1 ปี ก็ไม่ต่างกัน

เพราะต้นทุนชีวิตของเด็กในแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมไปถึงต้นทุนความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่เท่ากัน การหยุดเรียนในโรงเรียน อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งไม่ยอมให้ลูกหยุดการเรียนรู้ พยายามหารูปแบบและแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูกในรูปแบบต่าง ๆ ได้หลากหลาย

แต่กับพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสนั้น แถมยังปล่อยให้ลูกเผชิญชะตากรรมเอาเอง เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำมาหากิน ยิ่งในยุคโควิด-19 ยิ่งต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือนฝืดเคืองอย่างมาก จึงยากต่อการที่จะสามารถส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ลูกได้

ความจริงเรื่องนี้ ดิฉันเคยนำเสนอถึงแนวทางการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วว่า ในสถานการณ์ไม่ปกติเยี่ยงนี้ ไม่ควรมีบทสรุปเหมือนกับการเรียนการสอนแบบปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “การประเมินผล”

จะดีกว่าไหมถ้าการศึกษาแบบวิถีใหม่นี้ การประเมินจะถูกเปลี่ยนจาก “การประเมินผลการเรียนจากการสอบ” ไปเป็น “การประเมินผลจากการเรียนรู้” ทำให้การประเมินผลในวิถีการศึกษาใหม่เน้นที่การทำความเข้าใจ ไม่ใช่การตัดสินด้วยการสอบอย่างเดียว !

New Normal ของการประเมินผลควรเป็นการให้น้ำหนักที่ต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วยว่าสถานการณ์ของโคเยี่ยงนี้วิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนเหมือนเดิมไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ก็ไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ฉะนั้น เราควรจะต้องมีวิธีคิดในการออกแบบโดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่าต้องเรียนรู้ตามหลักสูตรเดิม หรือเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเพื่อตอบสนองนโยบาย หรือแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน

ตอนนี้สิ่งที่ห่วงเด็ก ไม่ควรเป็นเพียงเรื่องเนื้อหาการเรียนรู้ที่กลัวว่าเด็กจะเรียนไม่ทัน หรือมองเป้าหมายเพียงเดินตามหลักสูตรให้ทันเท่านั้น

แต่ควรคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ ที่ลำพังก็ได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แถมครอบครัวก็ได้รับผลกระทบอีกไม่มากก็น้อย แล้วใยเรายังจะส่งต่อความเครียดให้เด็กเพิ่มขึ้นอีกเล่า ?

เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ ก็ควรใช้วิธีคิดและวิธีการที่ยืดหยุ่น อย่าเล็งผลเลิศทางวิชาการ แต่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิกฤตการณ์

เนื้อหาการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ควรจะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งหมายรวมถึงวิธีการประเมินการเรียนการสอนด้วย เพราะเมื่อสถานการณ์วิกฤติ การเรียนรู้เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การประเมินก็ต้องเปลี่ยนด้วย

การปรับน้ำหนักในการประเมินผลควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

ประเด็นแรก – ควรให้น้ำหนักกับการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างการเรียนรู้ของครูและนักเรียน มากกว่าจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียน หรือเรียนผ่านสื่อออนไลน์ เพราะการเรียนรู้จะต้องทำรูปแบบผสมผสานทั้งเรียนในห้องเรียนและเรียนออนไลน์

ประเด็นที่สอง – ควรให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เกิดจากความเข้าใจและเชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคล มากกว่าการเรียนรู้ที่อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญกับระดับพื้นที่ ระดับโรงเรียน ให้แต่ละพื้นที่มีวิธีประเมินผลเบื้องต้นของตัวเอง

ประเด็นที่สาม – ควรให้น้ำหนักกับการประเมินผลแบบ Formative Assessment คือประเมินระหว่างจัดการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนา จะเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี มากกว่าแบบ Summative Assessment คือ การประเมินผลสรุป ซึ่งประเมินเมื่อสิ้นสุดการจัดการเรียนรู้เพื่อตัดสินคุณภาพ แนวทางการประเมินจะให้เป็นคะแนนและเกรด ทำให้เน้นเรื่องการจำแนกสติปัญญาของผู้เรียน แต่ไม่ได้มุ่งเน้นส่งเสริมผลลัพธ์ที่ดี

การสร้างความปกติใหม่สามารถทำได้โดยเริ่มจากการปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึง ถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศที่มีตัวอย่างมากมายอยู่ในขณะนี้

เมื่อปรับวิธีประเมินให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยคำนึงถึงตัวเด็กเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เกรดเฉลี่ยเป็นที่ตั้ง การปรับตัวก็จะตามมา

เรื่องนี้นโยบายต้องชัดด้วย !


กำลังโหลดความคิดเห็น