คนไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบที่รุมเร้าทั้งทางสุขภาพกายและใจ วิถีการดำเนินชีวิตในสังคม การทำงาน การเรียน และเศรษฐกิจ อีกทั้งอิทธิพลของกระแสข่าวสารที่ถาโถมหลั่งไหลในยุคโซเชียลมีเดีย มีส่วนทำให้คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียด ความกังวล หรืออาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย คณะวิศวะมหิดล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผนึกความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวนวัตกรรมแชทบอต “ใส่ใจ” (Psyjai) ที่สามารถพูดคุยกับทุกเพศวัย ก้าวล้ำด้วยเอ.ไอ.ช่วยประเมินสภาวะจิตใจและอารมณ์เบื้องต้น บรรเทาความเครียดด้วยหลักจิตวิทยา เปิดบริการแล้ววันนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชม.
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเครียดวิตกกังวลได้หลายๆ ด้าน ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งความเครียดอาจแสดง ออกมาเป็นรูปแบบของการนอนไม่หลับ ไม่สามารถหาความสุขจากกิจกรรมในวันธรรมดาๆ ได้ ท้อแท้ รู้สึกว่าไม่สามารถเอาชนะความยากลำบากของตัวเองได้ รวมถึงความรู้สึกทุกข์ใจและซึมเศร้า รวมถึงการเสียความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นต้น ทีมวิจัย จึงได้พัฒนา นวัตกรรมแชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) ที่เป็นเสมือนเพื่อนคนหนึ่งที่มีความรู้ทางด้านจิตวิทยา สามารถพูดคุยกับผู้ใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา และใช้งานง่าย โดยทีมวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการดูแลคนไทยให้มีสุขภาพจิตที่ดี ผู้ใช้งานสามารถตระหนักรู้ถึงสภาวะอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่การจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดความยากลำบากของประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตในช่วงโควิด-19 ทั้งที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ประเด็นปัญหาทั่วไป ช่วยให้คนไทยทุกเพศวัยสามารถดูแลสุขภาพจิตตนเองได้ทันท่วงที ป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้พัฒนาความรุนแรงขึ้น
แชตบอต ใส่ใจ (Psyjai) นี้ให้บริการผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) วิเคราะห์อารมณ์จากเนื้อหาการพูดคุย และมีระบบจัดการการสนทนา (Dialogue Management) สำหรับส่งข้อความโต้ตอบให้สอดคล้องกับอารมณ์และประเด็นปัญหาที่ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์หรือตรวจจับได้ แชตบอต “ใส่ใจ” ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1. ประเมินสภาวะอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์เศร้า เครียด และวิตกกังวล ที่มีต่อภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ข่าวสารโซเชียลมีเดีย หรือจากผลกระทบต่ออาชีพการงาน การศึกษา การปรับตัวทางสังคม ภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อสร้างภาวะตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของภาวะสุขภาพจิตในระยะเริ่มแรกที่สามารถให้การดูแลได้ง่าย 2. ให้การดูแลประคับประคองอารมณ์ในระดับเบื้องต้น (Emotional Support) โดยอ้างอิงหลักการให้การดูแลจิตใจตามหลักจิตวิทยา โดยผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับแชทบอทได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีการบ้านหรือแบบฝึกหัด (Homework) เพื่อกระตุ้นให้นำเนื้อหาที่พูดคุยไปปรับใช้จริง และผู้ใช้งานสามารถติดตามความก้าวหน้าของตนเองได้บนหน้าแสดงข้อมูล (Dashboard) ส่วนวิธีใช้งาน สามารถเข้าไปใช้งานโดยเสิร์ชหาคำว่า “Psyjai” ในช่องค้นหา ของแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก หรือ www.facebook.com/psyjaibot/ หลังจากเข้ามาที่หน้าเฟซบุ๊กเพจใส่ใจแล้ว ก็สามารถกดปุ่ม “ส่งข้อความ” เพื่อเริ่มพูดคุยได้ทันที นอกจากนี้แชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) ยังมีระบบให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง หรือมีภาวะอารมณ์ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง โดยเราให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความลับของผู้ใช้งานตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านคะแนนการประเมินสุขภาพจิต และเนื้อหาที่พูดคุย
รศ.พญ.สุดสบาย จุลกทัพพะ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพจิตมีความรุนแรงมากขึ้น พบได้ในคนทุกกลุ่มอายุ ในขณะที่ความสามารถในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตที่เป็นมาตรฐานนั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างกำลังเจอวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากสถิติของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า เฉพาะช่วง ม.ค. 2564 เดือนเดียว มีผู้ขอรับบริการโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เกี่ยวกับความเครียดจากโควิด-19 มีจำนวนสูงลิ่วถึง 1.8 แสนคน เปรียบเทียบกับทั้งปี 2563 มีจำนวนการโทรขอคำปรึกษาอยู่ที่ราว 7 แสนคน ดังนั้น “ใส่ใจ” แชตบอตบริการทางสุขภาพจิต จึงตอบโจทย์ด้วยข้อดี คือ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเองอย่างถูกต้อง และสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้เป็นจำนวนมาก สะดวกมากขึ้น ลดการเดินทางและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย
พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ แบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัย คือ 1. ปัจจัยทางด้านกายภาพ เช่น พันธุกรรม เพศ อายุ 2. ปัจจัยทางด้านจิตสังคม เช่น พื้นฐานทางจิตใจ อารมณ์ ทักษะการแก้ปัญหา สภาพแวดล้อม เป็นต้น ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทบการดำเนินชีวิตของคนในหลายๆ ด้าน ถือเป็นภาวะวิกฤติที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต วิธีป้องกันสุขภาพจิตที่ดีที่สุดคือ หมั่นสำรวจภาวะอารมณ์และความคิดของตนเอง เรียนรู้และจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดูแลที่เหมาะสม แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนบุคลากรและการเข้าถึง ทำให้มีประชากรไทยจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตจนปัญหารุนแรงขึ้นจนถึงระดับที่แก้ไขได้ยาก ทีมวิจัยพัฒนาแชตบอต “ใส่ใจ” (Psyjai) โดยบูรณาการองค์ความรู้ทางจิตวิทยาคลินิกและจิตเวช ผสานเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างเครื่องมือเป็นบริการเพื่อสังคมที่เข้าถึงคนในวงกว้างได้ง่ายและลดช่องว่างดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยแล้ว ยังเป็นการยกระดับการให้บริการสุขภาพจิตในประเทศไทยให้ก้าวไปกับโลกและไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลอีกด้วย
ดังนั้น หากรู้สึกไม่สบายใจ เครียด หรือสงสัยว่าตนมีอาการซึมเศร้าหรือไม่ ก็สามารถเข้าถึงบริการ “ใส่ใจ” แชตบอตทางสุขภาพจิตได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเฟซบุ๊กทั้งในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป