“ดนุช ตันเทอดทิตย์” ผช.รมต.อว.ลุย “อุดรโมเดล” ช่วยโควิด ตั้งทีม CCRT ลงพื้นที่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ช่วยงานสาธารณสุขตรวจละเอียดคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนขยายทีม CCRT ทั่วอีสานและทั่วประเทศ
วันนี้ (5 ส.ค.) ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ให้ร่วมดูแลรับผิดชอบโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ดังนั้น ตนจะปรับการทำงานของผู้ที่ได้รับการจ้างงงานในโครงการ U2T ใหม่ให้มาช่วยดูแลจังหวัดและสาธารณสุขในพื้นที่ โดยจะเริ่มที่ จ.อุดรธานี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 400 คน ก่อน เป็น “อุดรโมเดล” เบื้องต้น ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งต้องการกำลังคนมาช่วยสาธารณสุขตำบล สาธารณสุขอำเภอ ในเรื่องการประสานงาน การกรอกข้อมูลผู้ป่วย การคัดกรอง หรือกระทั่งการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอย เป็นต้น โดยช่วยทำงานคล้ายกับ CCRT ในกรุงเทพฯ (Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team : Bangkok CCRT) ซึ่งทีม CCRT จะลงพื้นที่สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆในชุมชนต่าง รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19
ดร.ดนุช กล่าวต่อว่า “อุดรโมเดล” จะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาโควิด-19 จาก จ.อุดรธานี จะขยายไปจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏประมาณ 10 แห่ง และกระจายไปทั่วประเทศ สมมติ อว.มีผู้ได้รับการจ้างโครงการ U2T จำนวน 6 หมื่นคน ตำบลละ 20 คน ถ้ามี Rapid Test หรือ ชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10-30 นาที แล้วออกไปค้นหาเชิงรุกในหมู่บ้านทั่วประเทศ จะสามารถแยกเอาผู้ป่วยมาดูตามอาการได้ รวมทั้งจะประสานกับโครงการ อว.พารอด ที่จะมีจิตอาสาหรือผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 มาพูดคุยปรึกษากับผู้ป่วย เชื่อว่าจะช่วยจังหวัด ช่วยสาธารณสุขได้มาก แม้กระทั่งการเข้าไปลดภาระงานของพยาบาลส่วนที่ต้องเก็บข้อมูล โดย อว.จะเป็นกองหนุนช่วยเพื่อนกระทรวงต่างๆ เชื่อว่า เราจะผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดไปได้อย่างแน่นอน