xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขอประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้ออีก 2 สัปดาห์ หลังขยายล็อกดาวน์ ลดติดเชื้อและเสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ล็อกดาวน์ประสิทธิภาพ 20% ขอความร่วมมืออยู่บ้านอีก 2 สัปดาห์ หลัง ศบค. ขยายล็อกดาวน์ 29 จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ถึง 25% พร้อมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง จะช่วยลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลงได้ เดือนสิงหาคมจะกระจายพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจะทยอยจัดส่งไปโรงพยาบาลวันที่ 3 สิงหาคม เป็นต้นไป



วันนี้ (2 ส.ค.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และผลจากการล็อกดาวน์ โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 17,970 ราย รักษาหาย 13,919 ราย อยู่ระหว่างรักษา 208,875 ราย เสียชีวิต 178 ราย ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ 20% ใน 14 วันที่ผ่านมา หากเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์เป็น 25% โดยล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 29 จังหวัด ต่ออีก 14 วัน ร่วมกับการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงอีกค่อนข้างมาก และในภาวะวิกฤตความร่วมมือของทุกภาคส่วนมีค่ามากที่สุดในการลดการติดเชื้อ ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ช่วยกันลดการเดินทางดูแลตนเองเข้มขึ้น โดย กทม.จะเริ่มดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ถัดไป และตามด้วยจังหวัดต่างๆ ขอให้กลับไปนึกถึงเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อ ไม่แพร่กระจายโรคต่อ

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น ใน กทม.และปริมณฑล ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนมากเพียงพอ ช่วงเดือนสิงหาคมนี้จะเร่งฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงในต่างจังหวัดมากขึ้น คือ ผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้คำแนะนำจากคณะทำงานด้านวิชาการ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ คณะทำงานด้านวัคซีน และนักวิชาการต้องขอบคุณคณาจารย์ต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ ให้ข้อแนะนำที่ดีในการใช้วัคซีนที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน เนื่องจากท่านมีความเป็นครูและผู้ให้ อยากทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศและประชาชน

“สำหรับปี 2565 รัฐบาลอนุมัติกรอบการจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดส โดยจะจัดหาวัคซีนทุกชนิด ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต ที่เป็นวัคซีนรุ่นใหม่จะป้องกันเชื้อในช่วงเวลานั้นได้ วัคซีนที่ ออกมาก่อนหน้านี้ ก็ป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นและอัลฟาได้ แต่เมื่อกลายพันธุ์เป็นเดลตาประสิทธิภาพก็อ่อนลง โดยปัจจุบันบริษัทต่างๆ กำลังพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ อาจเป็นวัคซีนหลักที่ต้องฉีด 2 เข็ม หรืออาจเป็นวัคซีนบูสเตอร์” นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลการติดตามการเคลื่อนย้ายของคน ทั้งทางรถและการเดินเท้า หลังประกาศลดการเดินทางตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว พบว่าแนวโน้มลดลง แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว เช่น กทม.และชลบุรี ปีที่แล้วลดลงได้กว่า 80% ส่วนปีนี้ได้เพียงกว่า 70% จึงต้องขอความร่วมมือเพื่อช่วยกันลดลงความเสี่ยง ตามประกาศ ศบค. ที่ปรับเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีเหลือง) 11 จังหวัด เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 3 ส.ค. 2564 ดังนั้น 2 สัปดาห์จากนี้ถือเป็นเวลาทองที่เราต้องร่วมมือกันทำให้การแพร่เชื้อน้อยลงมากที่สุด โดยออกจากบ้านให้น้อยที่สุด ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เน้นกิจกรรมที่ทำทางออนไลน์ เพิ่มความเข้มงวดขณะอยู่บ้านป้องกันการติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะที่มีผู้สูงอายุและโรคประจำตัว

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำให้กระจายวัคซีนไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งในเดือนนี้มีวัคซีนประมาณ 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์อีก 1.5 ล้านโดส โดยหลายจังหวัดที่มีการระบาดมากจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น เช่น นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ส่วน กทม.ยังมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ส่งมาในภาวะแช่แข็งในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส บรรจุในถาดขนส่งวัคซีน 1,170 โดสต่อถาด รวมแล้วคือจำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนที่ปรากฎบนเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐฯ จะจัดสรรให้กับ 1. บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 7 แสนโดส ตามความสมัครใจ 2. ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้น ไปในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 645,000 โดส 3. ชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยในประเทศไทย และคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ 150,000 โดส ซึ่งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศทำระบบลงทะเบียนไว้ 4. สำหรับวิจัย 5,000 โดส ในการศึกษาการฉีดสลับ ศึกษาภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน และ 5. สำรองไว้ 3 พันกว่าโดสสำหรับพื้นที่ระบาดใหม่ เช่น พื้นที่พบสายพันธุ์เบตา

“วัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์จะทยอยส่งไปทุกจังหวัดทั่วประเทศตั้งวันที่ 3 สิงหาคมนี้ ตามที่จังหวัดได้สำรวจและรวบรวมรายชื่อส่งมา จัดส่งในภาชนะบรรจุที่รักษาอุณหภูมิแช่แข็งเพื่อคงคุณภาพวัคซีน ส่วนของ กทม. กรมควบคุมโรคได้ประสานสำนักอนามัย จัดส่งวัคซีนไปที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่กำหนดและที่ประชุมคณะทำงานด้านบริหารการจัดการวัคซีนไฟเซอร์ มีข้อเสนอให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งแสดงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า” นายแพทย์โสภณ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น