พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ถือว่าเป็นด่านหน้าที่มีความเสี่ยง ด้วยบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โรงพยาบาลจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องเปิดรับผู้ป่วยตลอดเวลา สสส. จึงผนึกสานพลังวิชาการ ร่วมกับ กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายสถาปนิกนักออกแบบสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ดำเนินโครงการ “พื้นที่อยู่ดีมีสุข: การออกแบบสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง” มุ่งหวังเพื่อจุดประกายการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงพยาบาล รองรับสถานการณ์โควิด-19 ลดความเสี่ยงแก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยได้สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่าง บุคลากร ผู้ป่วยและญาติ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนโดยรอบเพื่อพัฒนาปรับปรุงพื้นที่บริการในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.หนองบัวลำภู โรงพยาบาลเบญจลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลสัตหีบ กม.10 จ.ชลบุรี และ โรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ซึ่งโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ และมีแผนขยายโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อหนุนเสริมพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลที่มีสุขภาวะอย่างยั่งยืน เอื้อต่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผลลัพธ์จากการดำเนินงานข้างต้น ไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนระบบการให้บริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยสร้างทางเลือกในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลให้ตอบรับกับพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ภายในโรงพยาบาล และการให้บริการสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาวต่อไป
นายธนานุกิจ จาดชลบท สถาปนิกกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน ผ่านการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่บริการส่วนต่างๆ ให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน แม้โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีอาคาร มีห้องตรวจ และพื้นที่ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องฉุกเฉิน พื้นที่บริการผู้ป่วยนอก พื้นที่พักคอย อาคาร NCDs หน่วยทันตกรรม และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งบางพื้นที่เปิดให้บริการมานานเกิดการทรุดโทรม ไม่สอดคล้องไปกับสถานการณ์ปัจจุบัน ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น หากไม่มีพื้นที่รองรับและคัดกรองผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานก็อาจเกิดการติดเชื้อในวงกว้างได้ จึงร่วมระดมความคิดจากผู้ที่ใช้พื้นที่จริง โดยใช้พื้นที่ห้องฉุกเฉินและผู้ป่วยนอกในการดำเนินการขั้นต้น เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการ พฤติกรรม ประสบการณ์ ความคาดหวัง และความกังวล ของบุคลากรและผู้มารับบริการในโรงพยาบาล การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Design) จึงเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในโรงพยาบาล
“ยกตัวอย่างห้องฉุกเฉิน พื้นที่ในโรงพยาบาลที่ต้องเปิดรับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ออกแบบปรับระบบการหมุนเวียนอากาศภายในห้องฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปรับรูปแบบ เข้า-ออกในทิศทางเดียวกัน (One Way Flow) จัดวางตำแหน่งเครื่องปรับอากาศให้มีความเหมาะสม สัมพันธ์กับทิศทางของเตียงผู้ป่วย เน้นความโปร่งโล่งและถูกสุขลักษณะมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ห้องแยกโรค (Isolate Room) ในการแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน มีการสอบประวัติและรักษาอาการเร่งด่วนก่อน จากนั้นจะเฝ้าสังเกตอาการ ส่วนแพทย์ พยาบาล จะใส่ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ป้องกัน ช่วยลดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ป่วยคนอื่นๆ” นายธนานุกิจ กล่าว
นายธนานุกิจ กล่าวต่อว่า ในแต่ละโรงพยาบาลมีจุดที่ต้องปรับต่างกัน เช่น ห้องทันตกรรม ของโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา และ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ถือว่ามีความเสี่ยงสูงไม่ได้ถูกจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสม หากมีผู้ป่วยติดเชื้อมาใช้บริการ อาจมีความเสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่เตียงข้างเคียงได้ง่าย จึงร่วมกับผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้พื้นที่ออกแบบปรับปรุง แยกสัดส่วนการใช้งาน ให้ถูกต้องตามหลักสุขภาวะมากยิ่งขึ้น หรือในส่วนของแผนกกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ที่เกิดความแออัดในการใช้บริการ มีการขยายพื้นที่พักคอยแก่ญาติผู้ป่วยให้สามารถมานั่งรอ ทำให้สภาพแวดล้อมปลอดโปร่ง ที่นั่งไม่แออัด มีหน้าต่างบานใหญ่ระบายอากาศและรับแสงแดดได้อย่างเหมาะสม ติดตั้งอ่างล้างมือให้ผู้ป่วยทำความสะอาดก่อนเข้าไปใช้บริการเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้การออกแบบเน้นให้เข้ากับบริบทของแต่ละที่ ใช้งานได้จริง สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในโรงพยาบาลได้ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคติดต่ออื่น ๆ ได้ในอนาคต
ด้าน พญ.ยุวพร จิระวงศ์ประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา กล่าวว่า เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กรองรับ 30 เตียง ทำให้พื้นที่บริการไม่เพียงพอ และบางจุดไม่ได้แยกพื้นที่อย่างชัดเจน ทางกลุ่มวิจัยฯสนับสนุนโดยสสส. ได้เข้ามาออกแบบพื้นที่รองรับผู้ป่วย โดยได้ใช้อาคารภูมิพัฒน์ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เสริมสร้างศักยภาพในการทำงานระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน เป็นอาคารที่แยกออกมาจากโรงพยาบาล นำมาปรับเป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ตอบโจทย์การใช้งานกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับการใช้งาน ได้แก่ ชั้น 1 สำหรับคนไข้กลุ่มสีเหลืองที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ชั้น 2 สำหรับกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่มากหรือแทบไม่มีอาการเลย และหากมีอาการรุนแรงทางโรงพยาบาลจะมีการส่งต่อไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่อไป ซึ่งหลังจากทำการรักษา แพทย์จะประเมินว่าหากคนไข้หายเป็นปกติไม่มีความเสี่ยงก็สามารถกลับบ้านได้
“ข้อดีคือผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ไปปะปนกับผู้ป่วยปกติที่เข้ามารับการรักษา-ผู้อื่นในชุมชน อาคารภูมิพัฒน์จึงกลายเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อมในพื้นที่โรงพยาบาล และได้ถูกใช้งานเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนอย่างแท้จริง” พญ.ยุวพร กล่าว