รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เน้นฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม เฉลี่ยฉีดได้วันละ 20,000 คน และคาดว่า ฉีดได้มากกว่า 1 ล้าน ภายในสิ้นเดือนนี้
เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์และคณะผู้บริหาร ติดตามการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อและให้สัมภาษณ์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความยินดีที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งในช่วงนี้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อได้พยายามเร่งฉีดให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากได้รับเชื้อโควิด 19 มีโอกาสอาการหนักและเสียชีวิตได้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์เป็นผู้ดูแลและจัดระบบบริการ โดยมีบุคลากร เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา เกือบ 400 คนต่อวัน ปฏิบัติงานอย่างทุ่มเทเพื่อให้บริการพี่น้องประชาชน สามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้วันละประมาณ 20,000 คน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม-23 กรกฎาคม ให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้ว 938,760 โดส คาดว่าในสิ้นเดือนนี้จะฉีดวัคซีนได้มากกว่า 1,000,000 คน ช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม. โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ขณะนี้สามารถวอล์คอินเข้ามารับบริการการฉีดได้
“ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อแห่งนี้เน้นฉีดผู้สูงอายุให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนยังคงรักษามาตรการป้องกันส่วนบุคคล รักษาระยะห่าง การล้างมือ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย อยู่บ้าน และหลีกเลี่ยงไปยังสถานที่เสี่ยง” นายอนุทิน กล่าว
สำหรับการลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุกในการค้นหาผู้ป่วยติดค้างในบ้านในพื้นที่ กทม. เมื่อคืนวานนี้และคืนที่ผ่านมา เนื่องจากทราบว่าในแต่ละคืนอาจมีผู้ป่วยที่มีอาการและไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้ จึงพยายามประสานงานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. สื่อมวลชน ดารานักแสดง เช่น คุณฐาปนีย์ คุณไดอาน่า เป็นต้น ซึ่งได้มีการพูดคุยประสานงาน และแบ่งปันข้อมูลกันมากขึ้น พยายามรวบรวมเครือข่ายของทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มกำลัง สุดความสามารถ ช่วยกันนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาให้ทันท่วงที เพื่อลดการสูญเสีย