xs
xsm
sm
md
lg

เผยแพทย์เจอปัญหาเคลียร์เตียง คนไข้โควิดอาการดีขึ้นไม่ยอมกลับบ้าน แนะใช้ “แนวปฏิบัติผู้ป่วย” เพิ่มโอกาสรอดของคนจำนวนมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผช.เลขาฯ แพทยสภา เผย หมอเจอข้อจำกัดยิ่งขึ้น เมื่อต้องใช้แพทย์สาขาอื่นมารักษาผู้ป่วยโควิด ทำให้กังวลเรื่องความรับผิดทางกฎหมาย ซ้ำพบปัญหาใหม่ ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ อาการดีขึ้นแล้ว ไม่ยอมกลับบ้าน เคลียร์เตียงไม่ได้ แนะใช้กฎเหล็ก “หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย” 10 ข้อ ที่แพทยสภาออกมาเมื่อปี 63 เพื่อโอกาสรอดของคนจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เฟซบุ๊ก Methee wong ของ รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สาขาศัลยกรรม รพ.ราชวิถี และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา มีการโพสต์ข้อความในหัวข้อ หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วยกับโอกาสรอดชีวิตของคนส่วนมาก เชื่อว่า ทุกคนทราบดีว่า สถานการณ์และปัจจัยในการรอดชีวิตของอีกหลายชีวิตในสถานการณ์โควิด-19 คือ “โอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาล” ซึ่งมีตัวแปรสำคัญ คือ ......ทรัพยากรสาธารณสุขที่มีจำกัดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เตียง” และ “แพทย์พยาบาล” ......ซึ่งไม่อาจเพิ่มได้ทันเท่าปริมาณจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน

ในฟากสถานพยาบาลนั้น หลายโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนตกอยู่ในสภาพหลังแอ่น ทำงานเกินขีดความสามารถปกติไปมากแล้ว ทั้งการโยกย้ายและเกลี่ยกำลังคน การเปิดรับบริจาคของ รพ.รัฐ เพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์ต่อชีวิตคน การปรับปรุงห้องคนไข้หนัก ห้องความดันลบซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากโดยเฉพาะฟาก รพ.เอกชนที่ต้องใช้งบตนเองทั้งหมดเหตุเพราะไม่อยู่ในวิสัยที่จะอุดหนุนด้วยภาษีรัฐได้ แต่จากสถิติรายวันก็ชี้ชัดว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ดังนั้น “การบริหารจัดการเตียงจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากในการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต”

ในฟากบุคลากรนั้น ฝ่ายพยาบาลไม่ว่ารัฐหรือเอกชนนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าต้องรับภาระหนักหนาสาหัสเพียงใด หลายคนไม่ได้รับโอกาสให้กลับบ้านไปดูแลญาติพี่น้องตนเอง ซึ่งหลายกรณีก็กลายเป็นคนป่วยด้วยเช่นกัน ส่วนฝ่ายแพทย์นั้น จากเดิมจะมีเฉพาะแพทย์สาขาเฉพาะทางด้านอายุรกรรมและเวชศาสตร์ฉุกเฉินเท่านั้นที่เป็นด่านหน้าในการรับมือโรคนี้เคียงคู่กับพยาบาล โดยแพทย์สาขาอื่นต้องพร้อมใจกันเลื่อนนัดผู้ป่วยโรคอื่นออกไปเพื่อเปิดทางให้มีการเกลี่ยเตียงและเกลี่ยคนโดยเฉพาะพยาบาลไปเพื่อช่วยกันรักษาชีวิตคนไข้โควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์เลยมาถึงจุดนี้ แพทย์ที่แม้จะไม่ใช่สาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคติดต่อนี้ ก็อาจจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยการลงมาช่วยกันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งประเด็นสำคัญที่แพทย์ทั้งสองกลุ่มกำลังกังวล คือ “ความรับผิดทางกฎหมาย” อันเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลที่ต้องเข้ามาดูแลผู้ป่วยภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าจะให้โอกาสใครในการเข้ารับการรักษามากกว่ากัน ตลอดจนความกังวลที่ตนเองไม่ได้มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะกับโรคนี้ ...ทำให้ในหลายประเทศได้ออกกฎหมายเร่งด่วนเพื่อยกเว้นความรับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการจำเพาะ 
 
แต่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว กลับมีข่าวที่น่าเสียใจ คือ มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำ อาทิ การไม่ยอมจำหน่ายออกจากสถานพยาบาล ทั้งๆ ที่แพทย์ลงความเห็นแล้วว่าอยู่ในสภาพที่พอจะไปพักฟื้นและดูแลตัวเองต่อได้ ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัมเอ่ยปากว่า “กำลังประสบปัญหาเคลียร์เตียงไม่ได้ เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ยอมจำหน่ายออกจาก รพ.โดยให้สารพัดเหตุผลส่วนตัว เช่น ไม่มีคนดูแล คิดว่าตนเองยังต้องรับการรักษาในสถานพยาบาล คิดว่ายังไม่แข็งแรงพอ เป็นต้น” ในขณะที่ผู้ป่วยบางคน ซึ่งอาจจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า หากมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ถือเป็นสิทธิส่วนตัวในการยึดครองเตียงต่อไปแม้แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน เพื่อหวังเปิดทางให้รับผู้ป่วยใหม่ซึ่งอาจจะเป็นญาติพี่น้องของเขาเองก็ได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากผู้ป่วยทุกคนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำและระเบียบของสถานพยาบาลแล้ว ข่าวคราวคนนอนตายข้างถนนคงไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

เมื่อต้นปี 2563 ช่วงที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ และมีข่าวการปกปิดข้อมูลอันส่งผลให้แพทย์พยาบาลต้องติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ในฐานะกรรมการแพทยสภา ได้ผลักดันในคณะกรรมการแพทยสภามีมติเร่งด่วนให้ออกประกาศ “หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย” กฎเหล็ก 10 ข้อนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปคือการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยว่า...ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำโดยชอบของแพทย์และตามระเบียบของสถานพยาบาล ต้องเอาใจดูแลสุขภาพตนเองไม่กระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลโดยรวม ต้องไม่คำนึงถึงแต่สิทธิของตนเองโดยไม่ละเลยสิทธิของสถานพยาบาลและผู้ป่วยรายอื่น ต้องตระหนักในข้อจำกัดด้านทรัพยากรสาธารณสุข เป็นต้น 
 
ทั้งนี้ เชื่อว่า หากประกาศ “หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย” นี้ได้รับการเผยแพร่เป็นวงกว้าง และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขให้มีการกระจายเป็นวงกว้างออกไปเพื่อให้สถานพยาบาลและผู้ป่วยรับทราบ น่าจะส่งผลดีการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงในขณะนี้ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของคนจำนวนมากทั้งที่ป่วยด้วยโควิดและโรคอื่นๆ ที่ต้องถูกเลื่อนการรักษาออกไปอย่างไม่มีกำหนด












กำลังโหลดความคิดเห็น