รมช.สธ.เปิดศูนย์ความร่วมมือภาคประชาสังคม-กรมการแพทย์ บริหารจัดการระบบส่งต่อ ประสานข้อมูล และติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอรับการรักษาในโรงพยาบาล แยกกักตัวที่บ้าน และหลังออกจากโรงพยาบาล โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมดูแลรักษาผู้ป่วย ติดตามอาการ ส่งต่อโรงพยาบาล ลดเสียชีวิต
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมเปิดศูนย์ความร่วมมือภาคประชาสังคม-กรมการแพทย์เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 ดร.สาธิตกล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะใน กทม. และปริมณฑล มีผู้ป่วยมากกว่า 2,000-4,000 คนต่อวัน ทำให้มีผู้ป่วยสะสม ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม hospitel ของภาครัฐและเอกชน ครองเตียงวันละประมาณ 30,000 เตียง ส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลเหลือน้อย รวมทั้งมีผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ที่บ้านเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีอาการแย่ลง และบางรายเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ และภาคประชาสังคม อาทิ โรงพยาบาลภาคีเครือข่าย UHosNet กทม. กลาโหม โรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพจต่าง ๆ บนโซเซียลมีเดีย เช่น หมอแลบแพนด้า เราต้องรอด เส้นด้าย จึงได้เปิด “ศูนย์ความร่วมมือภาคประชาสังคม – กรมการแพทย์ เพื่อผู้ป่วยโควิด-19” บูรณาการความร่วมมือช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 บริหารจัดการระบบส่งต่อ ประสานข้อมูล และติดตามอาการผู้ป่วยที่เข้าระบบการรักษา แบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ในเขต กทม.และปริมณฑล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (สีเขียว) รายใหม่เข้าระบบการรักษาเร็ว หากอาการรุนแรงขึ้นจะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล หรือรับผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นระหว่างรอครบกำหนด 14 วันหลังออกจากโรงพยาบาล เป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีเพียงพอรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้พัฒนารูปแบบการรักษาโดยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอ admit ในโรงพยาบาล โดยสายด่วน 1668 จะคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ และส่งรายชื่อกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ เข้ามารับคำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น มีแพทย์และพยาบาลประจำการ ติดตามอาการทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ผ่านระบบเทเลเมดิซีน App. DMS จนครบ 14 วัน สามารถโทรสอบถามได้ มีการจัดส่งอาหาร 3 มื้อและยาไปให้ที่บ้าน แจกเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดให้ผู้ติดเชื้อวัดด้วยตัวเอง แจ้งสถานพยาบาลทุกวัน และมีระบบส่งรักษาต่อหากมีอาการรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ การแยกกักตัวที่บ้าน ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก อายุไม่เกิน 60 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ หากมีโรคร่วมต้องควบคุมได้ และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะแยกกักตัวที่บ้าน ย้ำว่าไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม ล้างมือบ่อยๆ อยู่ในห้องส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ใช้ห้องน้ำแยก แยกสิ่งของ แยกรับประทานอาหาร กรณีมารดาสามารถให้นมบุตรได้