นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation )ว่า เดิมทีเราไม่อยากใช้มาตรการนี้ถ้าไม่จำเป็น เพราะมีผลเสีย 2 อย่าง คือ ผลเสียกับสุขภาพของผู้ติดเชื้อ ถ้าอยู่ที่บ้านคนเดียวไม่มีใครช่วยดูแล ถ้าสุขภาพแย่ลงก็อาจเปลี่ยนจากอาการสีเขียวเป็นสีแดงและเสียชีวิตได้ถ้าไม่มีคนดูแล ส่วนผลเสียที่ 2 คือ ผลเสียต่อชุมชน ซึ่งจากการทบทวนจากต่างประเทศ มีหลายประเทศ เช่น อังกฤษใช้ Home Isolation แต่ทำไม่ได้ 100% ทำให้แพร่เชื้อสู่ครอบครัว และเมื่อออกไปข้างนอกก็แพร่เชื้อในชุมชนได้ ดังนั้น หากไม่จำเป็นจึงไม่อยากทำเรื่องนี้ แต่วันนี้ที่จำเป็นเนื่องจากพบว่าอัตราการครองเตียงประจำวัน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564) ขึ้นมาถึง 30,631 เตียง นี่คือภาระที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกำลังประสบอยู่
ทั้งนี้ หากมีอาการไม่มากและไม่มีอาการ คือสีเขียวหรือเขียวอ่อนรวมแล้ว 76% ส่วนสีเหลือง 20% สีแดง 4% แต่ตรงนี้ต้องใช้เตียงไอซียูจะเห็นข้อมูลเดิม 714 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 1,206 ราย เพิ่มเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ เพิ่มไม่ยาก แต่บุคลากรเพิ่มยาก และที่มีอยู่ก็เหนื่อย หลายคนติดเชื้อ การจะขยายเตียงเพิ่ม บุคลากรก็จะไม่ไหว จึงเป็นที่มาต้องมีการแยกกักตัวที่บ้าน และชุมชน
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า การเพิ่มของสถานที่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่องยาก จึงจะเห็นจากข่าวว่าพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเป็นระยะ ๆ ซึ่งตอนนี้เตียงไม่พอ แม้จะขยายเตียงได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ไหว จึงมองว่า ถึงเวลาทำ Home Isolation และ Community Isolation โดยจะนำผู้ป่วยที่มีอาการสีเขียวอ่อน-เขียวแก่เข้าในระบบดังกล่าว เพราะวันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน รัฐบาลจึงต้องล็อกดาวน์
สำหรับการทำ Home Isolation นั้น ต้องเป็นการแยกกักตัวได้จริงๆ โดยนอนคนเดียว แยกของกินของใช้ แยกขยะของเสีย ห้องน้ำใช้ร่วมกันได้ แต่ขอให้ผู้ติดเชื้อใช้คนสุดท้ายและทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง และสัมผัสกับคนให้น้อยที่สุด แต่ถ้าคนที่ไม่มีห้องนอนแยกหรือไม่สามารถแยกกับตัวจากที่บ้านได้ ให้ใช้ Community Isolation ซึ่งใช้หลักการ คือ บ้าน วัด โรงเรียน
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แนวทางนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจผู้ป่วย โดย จะมีการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยเอง แพทย์ พยาบาล และภาคประชาสังคมหรือคนกลาง ในการประเมินร่วมกันและหาแนวทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ ได้ทำช่องทางสื่อสารติดตามอาการทุกวัน โดยจัดระบบวิดีโอคอลเทเลคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสาร ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการทุกวัน และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน ขณะที่สถานพยาบาลต้องมีการลงทะเบียน พร้อมให้ที่วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ที่สามารถทำเองได้ เพื่อเช็กว่าปอดยังดีอยู่หรือไม่
ทั้งนี้ เรื่องการบริหารจัดการเตียง มีแนวคิดว่าให้คนที่อยู่โรงพยาบาล 7-10 วันแล้วไม่มีอาการ ให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้มีเตียงเพิ่มร้อยละ 40-50 และสามารถรับผู้ป่วยใหม่ได้
นอกจากนี้ในส่วนของ Community Isolation อาจไม่ใช่แค่วัด และโรงเรียน แต่แคมป์คนงาน หมู่บ้านหรืออื่นๆ ก็ทำ Community Isolation ได้ถ้ามีที่แยกตัว แต่ไม่ควรเกิน 200 คน มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่ จะให้ใช้ระบบ Home Isolation และ community Isolation ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลราชวิถี ได้ทำไปแล้ว จนมีบางรายหายเป็นปกติ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในสองส่วนนี้กำลังจะเพิ่มขึ้น เดือนที่แล้วมี 20 รายที่เข้าระบบ วันนี้กำลังรวบรวมน่าจะมีจำนวน 400-600 รายแล้ว จึงฝากให้ประชาชนพิจารณา 2 แนวทางดังกล่าว โดยยืนยันว่ามาตรการที่เตรียมไว้เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด
นายแพทย์สมศักดิ์ ย้ำว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้เตียงไม่พอจริงๆ ซึ่งจะขยายเตียงได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ไหว ดังนั้นเพื่อประคองสถานการณ์ให้ผ่านไปได้ต้องใช้ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งหากภายใน 2 สัปดาห์นี้ ถ้ากดกราฟลงมาไม่ได้และทุกอย่างระบบเหมือนเดิม ก็จะมีปัญหามาก หากผู้ติดเชื้อไม่ลดลง แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ก็จะทำให้ลดลงได้ 40-50% และเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้