คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห่วงโครงสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ พร้อมเตือนประชาชนระมัดระวังการสำรวจโครงสร้างด้วยตนเอง ชี้ อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วันนี้ (6 ก.ค.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เตรียมนำทีมวิศวกรลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก จ.สมุทรปราการ เดินหน้ารวมข้อมูลในพื้นที่นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และสร้างเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก พร้อมเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าฟื้นที่สำรวจและฟื้นฟูโครงสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง เนื่องจากโครงสร้างที่อาจไม่แข็งแรง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก จ.สมุทรปราการ สามารถขอความช่วยเหลือสำรวจความเสียหายและแนวทางการฟื้นฟูอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการลงพื้นที่ และการจัดโซนนิ่งพื้นที่ตามระดับความเสียหาย TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
รองศาสตราจารย์ ดร. สายันต์ ศิริมนตรี วุฒิวิศวกรและหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE กล่าวว่า "คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE ได้จัดทีมวิศวกรด้านวิศวกรรมโยธา จำนวน 20 คน ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท และศิษย์เก่าของ TSE เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทางวิศวกรรมจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมเดินหน้าให้คำแนะนำในการฟื้นฟูอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ในชุมชนที่ได้รับความเสียหายในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่ทำงานได้ภายใน 1-2 วัน หรือจนกว่าจะสามารถควบคุมเพลิงในโรงงานที่เกิดเหตุสงบลงก่อน เพื่อความปลอดภัยของทีมสำรวจในการเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เกิดเหตุ"
ทีมวิศวกรของ TSE เตรียมแผนดำเนินการไว้อย่างรอบคอบ ตั้งแต่ประเมินความเสียหาย พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการซ่อมแซมฟื้นฟูอาคารในชุมชนโดยรอบ ซึ่งเริ่มจากบ้านเรือนชุมชนในรัศมี 1 กิโลเมตรก่อน เนื่องจากคาดว่าจะเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด และจะขยายผลไปสำรวจพื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรต่อไป โดย TSE มีเป้าหมายเพื่อการจัดทำโซนนิ่งตามระดับของความเสียหาย ได้แก่ เสียหายมาก ปานกลาง และ เสียหายเล็กน้อย พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการฟื้นฟูโครงสร้างทางวิศวกรรมให้เหมาะกับระดับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรก
“สิ่งที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้สถานประกอบการที่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย และมีแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด และ ความร้อนเนื่องจากไฟไหม้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จึงเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าฟื้นที่สำรวจและฟื้นฟูโครงสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง เนื่องจากโครงสร้างอาจถล่มลงมา ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยแนะนำให้ประชาชนขอความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อให้ช่วยยืนยันความเสี่ยงก่อนเข้าฟื้นฟูบ้านเรือนของตนเอง ทั้งนี้ TSE ตั้งเป้าจะนำข้อมูลจากสำรวจความเสียหายของอาคาร เพื่อนำไปส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวไปอ้างอิงให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่” รองศาสตราจารย์ ดร. สายันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม TSE มีข้อกังวลเกี่ยวกับการอพยพของประชาชนออกจากพื้นที่อย่างกระทันหัน อาจทำให้มองข้ามอันตรายเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า ประปา และก๊าซหุงต้ม โดยเฉพาะบ้านที่ไม่ได้ยกสะพานไฟก่อนออกจากบ้าน ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจากแรงสั่นสะเทือน และอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ รวมถึงท่อประปาที่อาจเกิดรอยแตกรอยรั่ว ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟรั่วไฟช็อตได้ โดย TSE เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตัดการส่งไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าวไปก่อน เพื่อให้ทีมวิศวกรได้ประเมินความเสียหายและความเสี่ยงในเบื้องต้นก่อน
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก จ.สมุทรปราการ สามารถขอความช่วยเหลือสำรวจความเสียหายและแนวทางการฟื้นฟูอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการลงพื้นที่ และการจัดโซนนิ่งพื้นที่ตามระดับความเสียหาย TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT