กรรมการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี ชี้จัดตั้ง Community Isolation ช่วยลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล เบื้องต้นเริ่มดำเนินการแล้วใน 23 ชุมชนจับมือโรงพยาบาลปิยะเวท อบรมแกนนำชุมชนดูแลผู้ป่วยสีเขียว ด้าน กรรมการ สปสช. ชี้ ผู้ติดเชื้อที่โทรให้สายด่วน 1330 หาเตียงให้แล้วยังไม่ได้เตียงก็เข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลปิยะเวทได้เช่นกัน
วันนี้ (4 ก.ค.) พญ.นิตยา ภานุภาค กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (IHRI) กล่าวถึงแนวทางการจัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการอยู่ในระดับสีเขียวหรืออาการไม่รุนแรงใน 23 ชุมชนว่า ที่มาของเรื่องนี้เนื่องจากช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมามีการจัดตั้งทีม Community Support Workforce ซึ่งประกอบด้วยทีมงานจาก IHRI และเครือข่ายภาคประชาชนพันธมิตร เช่น เครือข่ายของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทำหน้าที่รับเคสที่เจอในชุมชน ช่วยประเมินเบื้องต้น ประสานหาที่ตรวจ ประสานหาเตียง
"ก็ทำไปได้เรื่อยๆ และเห็นแนวโน้มว่าโรงพยาบาลน่าจะไม่ไหว ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาเราจึงทำเรื่องการดูแลผู้ป่วยโดยชุมชนด้วยกันเอง เพื่อสำรองเตียงในโรงพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยที่อาการปานกลางหรือหนัก โดยประสานงานกับชุมชนที่มีโควิดระบาดและเริ่มอบรมแกนนำชุมชน รวม 23 ชุมชน เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้น การอบรมว่าจะค้นหาผู้มีความเสี่ยงสูงอย่างไร จะแบ่งระดับสีอย่างไร เจอเคสผู้ป่วยแล้วจะช่วยอย่างไร ซึ่งทีมนี้เรียกว่าทีมคอมโควิดชุมชน ทำงานร่วมกับทีมคอมโควิด IHRI ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่เข้ามา ทีม IHRI ก็จะส่งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจนไปให้ แล้วทำการมอนิเตอร์วันละ 2 ครั้งระหว่างรอเตียง" พญ.นิตยา กล่าว
พญ.นิตยา กล่าวต่อไปว่า ประจวบกับขณะนี้ กรมการแพทย์มีแนวคิดเรื่องการใช้ระบบ Home Isolation, Community Isolation ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งก็ตรงกับแนวทางของทีมที่ทำงานกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และมีชุมชนที่พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว ขณะที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ยินดีให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้คนในชุมชนดูแลกันเองได้อย่างเต็มที่ เช่น อาหาร 3 มื้อ อุปกรณ์วัดไข้วัดออกซิเจน รวมทั้งค่าเดินทางกรณีต้องไปโรงพยาบาล จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้ง Community Isolation และ Home Isolation ใน 23 ชุมชนนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลปิยะเวทที่มาจับคู่กับชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วย ซึ่งถ้าเป็นเคสผู้ป่วยสีเขียว ชุมชนจะดูแลให้เพื่อลดการครองเตียงของโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและแดง โรงพยาบาลก็จะรับไปดูแลโดยที่ชุมชนไม่ต้องตระเวนหาเตียงวุ่นวาย
"มันจึงเกิดการจับคู่ระหว่างชุมชน มีทีม IHRI เป็นหน่วยกลางเชื่อมชุมชนและโรงพยาบาล และมีโรงพยาบาลปิยะเวทเข้ามาเป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแลให้ 23 ชุมชนนี้ กลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นคือผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆ ในชุมชนทั้ง 23 แห่งนี้ รวมทั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดที่โทรมาสายด่วน 1330 เพื่อประสานหาเตียงให้ ซึ่งขณะนี้มีตกค้างยังไม่ได้เตียงมากกว่า 1,000 คน ซึ่งวันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมาเราก็เริ่มดำเนินการตามระบบนี้แล้ว โดยค้นหาและรับเคสผู้ป่วยรายใหม่แล้วส่งเคสให้เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลปิยะเวท ตลอดจนเตรียมการดูแลในชุมชนแล้ว" พญ.นิตยา กล่าว
พญ.นิตยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของเคสผู้ป่วยที่ค้างในระบบของสายด่วน 1330 ที่ไม่ได้อยู่ใน 23 ชุมชน เช่น อยู่คอนโดมิเนียม หรืออยู่ในชุมชนที่ไม่ได้มีแกนนำที่ชัดเจน ก็สามารถใช้การรักษาแบบ Home Isolation ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลปิยะเวทก็ได้ แต่อาจจะต้องหาเครือข่ายเข้ามาช่วยดูแลแบบทีมคอมโควิดในชุมชน เช่น การส่งอาหาร การเช็คอุณหภูมิ เช็คระดับออกซิเจน โดยอาจทำผ่านระบบออนไลน์ก็ได้
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อในชุมชน 23 แห่ง ที่ผ่านมาได้มีการประสานหาเตียงไปเยอะแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกรณีของผู้ป่วยที่โทรเข้ามาที่ 1330 และยังตกค้างไม่ได้เตียงกว่าพันคนนั้น หากอยู่นอก 23 ชุมชนนี้ก็สามารถดูแลแบบ Home Isolation ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลปิยะเวทแบบเดียวกับ 23 ชุมชนนี้ก็ได้ แต่ต้องสอบถามความสมัครใจก่อนว่ายินดีเข้าระบบโดยมีทีมของเครือข่ายช่วยดูแลสอบถามอาการหรือไม่ หากยินดีก็แอดมิดเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลปิยะเวทแล้วเข้าระบบการรักษาที่บ้านเลย แต่ถ้าไม่สมัครใจก็อาจต้องรอประสานหาเตียงไปก่อน ทั้งนี้ กลุ่มตกค้างเหล่านี้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 อาจจะต้องติดต่อกลับไปสอบถามความสมัครใจก่อน หากผู้ป่วยสมัครใจ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งรายชื่อให้ทีมคอมโควิดแล้วทีมงานก็จะติดต่อกลับไปอีกครั้ง