ศบค. เผย ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 6,087 ราย กทม. น่าห่วง ป่วยวันนี้ 2,267 ราย เสียชีวิตยังมากสุด พบคลัสเตอร์อีก 2 แห่ง ในแคมป์คนงาน เขตคลองเตย โรงงานกระสอบฯ เขตหนองแขม ส่วนปริมณฑลยังผู้ติดเชื้อสูง ส่วนในหลายจังหวัดยังคงพบคลัสเตอร์ใหม่ และผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเดินทางกลับภูมิลำเนา ระบุเหลือ 3 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่
วันนี้ (2 ก.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,087 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 5,880 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 207 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 270,921 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 3,638 ราย สะสม 214,340 ราย กำลังรักษาอยู่ 54,440 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 26,025 ราย และโรงพยาบาลสนาม 28,412 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,002 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 579 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย รวมเสียชีวิต 2,141 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 6,087 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,905 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,964 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 207 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 11 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 61 ราย ชาย 29 ราย หญิง 32 ราย กทม. 28 ราย นนทบุรี 9 ราย สมุทรปราการ 8 ราย ปัตตานี 5 ราย ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัดละ 3 ราย เชียงราย สงขลา นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยง มากสุดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุค่ากลาง 67 ปี อายุน้อยสุด 30 ปี อายุมากสุด 90 ปี มีเป็นชาวไทย 58 ราย เมียนมา 3 ราย พบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย (สูงอายุ 3 ราย แรงงานเมียนมา 2 ราย) มีบุคลากรทางการแพทย์ เสียชีวิตในระลอกเดือน เม.ย. 64 แล้ว 4 ราย 5% ของผู้ป่วยในขณะนี้ จะเป็นผู้ป่วยมีอาการปอดติดเชื้อ-มีอาการหนัก 2.5% จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขอฝากประชาชนที่เข้าพบแพทย์ อย่าปกปิดข้อมูลการเดินทางและประวัติเสี่ยง
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ยังพบผู้ติดเชื้อที่เข้ามาจากช่องทางธรรมชาติ กลับจากกัมพูชา 1 ราย ฝั่ง จ.จันทบุรี กลับจากเมียนมา 1 ราย ฝั่ง จ.ตาก
แนวโน้มทั้งในประเทศ เหลือจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อวันนี้ 3 จังหวัด คือ พังงา ลำพูน แม่ฮ่องสอน มี 26 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 20 ราย แนวโน้มการพบในหลายจังหวัดมากขึ้น ผู้ป่วยมากกว่า 2/3 เป็นยอดของ กทม. รวมใน กทม. ปริมณฑล มากกว่า 60% ของผู้ป่วยทั่วประเทศ มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม จากการเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 2 ก.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 2,267 ราย 2. สมุทรปราการ 522 ราย 3. นนทบุรี 327 ราย 4. สมุทรสาคร 289 ราย 5. ปทุมธานี 284 ราย 6. ชลบุรี 222 ราย 7. ยะลา 201 ราย 8. ปัตตานี 169 ราย 9. สงขลา 167 ราย 10. นราธิวาส 124 ราย
ส่วนสถานการณ์ใน กทม. น่าเป็นห่วงพบผู้ป่วยรายใหม่เกิน 2 พันรายในวันนี้ เฝ้าระวัง 113 คลัสเตอร์ คลัสเตอร์ใหม่ ใน กทม. คือ แคมป์ก่อสร้าง ซอยสุขุมวิท 50 เขตคลองเตย และโรงงานกระสอบฯ เขตหนองแขม สถานการณ์น่าเป็นห่วง ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในขณะที่อัตราการหายออกไปต่ำกว่า เร่งจัดการหาเตียงเพิ่มเติม มีแนวทางทำการแยกกักกันในชุมชน (community isolation) ระหว่างรอเตียง
จะมีการประชุม หารือเพิ่มเติมในบ่ายวันนี้ และเร่งการเพิ่มเตียงระดับเขียว-เหลือง-แดง มี จนท.แพทย์ เพิ่มเติมเข้ามาช่วยเพิ่มเติมใน รพ.ต่างๆ มากขึ้น กทม. เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง จะมีการจัดหน่วยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนนอกสถานที่ให้ โดยจัดสรรวัคซีน Sinopharm สำหรับในกลุ่มนี้
ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่
- สมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.เมือง ติดเชื้อแล้ว 21 ราย
- นนทบุรี พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ อ.ปากเกร็ด ในตลาดเทศบาล ติดเชื้อแล้ว 45 ราย และตลาดพิชัย ติดเชื้อแล้ว 75 ราย
- สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก อ.เมือง, โรงงานลูกชิ้น อ.กระทุ่มแบน
- สุราษฎร์ธานี พบคลัสเตอร์ใหม่ แคมป์คนงาน ที่ อ.พุนพิน
- ขอนแก่น พบคลัสเตอร์ใหม่ ศูนย์พัฒนาเด็ก
ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่เหลือยังคงพบการติดเชื้อเพิ่มเติมในคลัสเตอร์เดิม ที่พบต่อเนื่อง
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 242,058 ราย หายป่วยสะสม 186,914 ราย เสียชีวิตสะสม 2,047 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 183,414,645 ราย อาการรุนแรง 78,709 ราย รักษาหายแล้ว 167,917,871 ราย เสียชีวิต 3,971,442 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,561,403 ราย
2. อินเดีย จำนวน 30,453,937 ราย
3. บราซิล จำนวน 18,622,304 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,777,965 ราย
5. รัสเซีย จำนวน 5,538,142 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 70 จำนวน 270,921 ราย