เมืองไทย 360 องศา
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทย ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ดังนี้ พบจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 5,406 ราย แบ่งออกเป็นติดเชื้อใหม่ 5,397 ราย จากเรือนจำ-ที่ต้องขัง 9 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 22 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1 เมษายน - 28 มิถุนายน 2564 มีจำนวน 220,990 ราย เสียชีวิตสะสม 1,840 คน
ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีจำนวน 249,853 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,934 คน
ขณะเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันเดียวกันโดยให้รายละเอียดเพิ่มเติม ว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,406 รายนั้น แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 5,397 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 9 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 249,853 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 3,343 ราย สะสม 202,271 ราย กำลังรักษาอยู่ 45,648 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 19,386 ราย และโรงพยาบาลสนาม 26,262 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,806 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 510 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย รวมเสียชีวิต 1,840 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 5,406 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,757 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,622 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 9 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 18 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 22 ราย ชาย 13 ราย หญิง 9 ราย กทม. 10 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ระยอง ปทุมธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สงขลา สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยง มากสุดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ในครั้งนี้พบตั้งครรภ์และภูมิคุ้มกันบกพร่อง 1 ราย อายุค่ากลาง 59.5 ปี อายุน้อยสุด 31 ปี อายุมากสุด 91 ปี มีเป็นชาวไทย 50 ราย จีน 1 ราย
แนวโน้มในประเทศ การพบในระบบบริการฯ รพ. เยอะขึ้น สะท้อนการระบาดเยอะขึ้น จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักและที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ (ETT) ตั้งแต่วันที่ 14 - 27 มิ.ย. 64 ผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มโดยรวม ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กทม. และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จ.อื่น มีแนวโน้มคงตัว การพบจากค้นหาเชิงรุกเพิ่มขึ้น ในเรือนจำลดลงเรื่อยๆ
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ยังคงพบผู้ติดเชื้อเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ วันนี้พบ 3 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากกัมพูชา ในพื้นที่ จ.จันทบุรี
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 28 มิ.ย. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,678 ราย 2. ตาก 453 ราย 3. สมุทรปราการ 395 ราย 4. ชลบุรี 390 ราย 5. สมุทรสาคร 295 ราย 6. สงขลา 275 ราย 7. นนทบุรี 222 ราย 8. นครปฐม 197 ราย 9. ปัตตานี 178 ราย 10. สระบุรี 157 ราย
สถานการณ์ใน กทม. และปริมณฑลยังคงพบผู้ติดเชื้อสูง กทม. พบเพิ่มขึ้น มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด 111 แห่ง เฝ้าระวังสูงสุด 97 แห่ง มี 7 คลัสเตอร์ที่ไม่พบเชื้อแล้ว 28 วัน
นั่นเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่รายงานเข้ามาในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังเป็นพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูง รวมไปถึงจำนวนผู้เสียชีวิตอีกด้วย และยังต้องจับตาบางจังหวัด เช่น ตาก และชลบุรี ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงมากภายในวันเดียว
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมบวกก็อาจระบุว่า จำนวนที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากการตรวจค้นหา “เชิงรุก” พบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการทำให้เห็นตัวเลขที่พุ่งสูง
แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นกันในเวลานี้ ก็คือ สังคมกำลังเกิด “ความเครียด” จากปัญหาความเดือดร้อนที่รุมเร้าสารพัด และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นยาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไปในเวลาอันรวดเร็ว หรือช่วงเวลาอันใกล้นี้ เพราะยิ่งทอดเวลาออกไปนานเท่าไหร่ มันก็ยิ่ง “ยืนระยะไม่ไหว” ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับปัญหาความเดือดร้อนเรื่อง “ปากท้อง” และ “หนี้สิน” ที่เชื่อว่าคนไทยเกินกว่าร้อย 80 กำลังเผชิญอย่างหนักหน่วงขึ้นไปเรื่อยๆ
ปัญหาดังกล่าวมันก็ยิ่งทำให้เกิด “อารมณ์” จากความสะสมความเครียด จนเสี่ยงที่จะระเบิดได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีคราวนี้ถือว่ามี “เดิมพัน” สูงกว่าครั้งไหนๆ เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนเวลาแล้ว เชื่อว่า “ภายใน 15 วัน” นับจากนี้ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น หลังจากออกมาตรการควบคุมขั้นสูงสุดใน “คลัสเตอร์” ที่แหล่งระบาด โดยเฉพาะในแคมป์คนงาน และพื้นที่ควบคุมรวม 10 จังหวัดดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงการระดมฉีดวัคซีนที่สามารถทยอยฉีดได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีรายการเลื่อนออกไปบ้าง แต่หากมีการฉีดทุกวัน และมีการรับมอบวัคซีนเข้ามาอย่าต่อเนื่องก็น่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง
จากการแถลงล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำหลังการประชุมฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอาจจะมีการ “ทบทวนบางมาตรการ” ใน 15 วัน หากสถานการณ์ดีขึ้น มีการควบคุมการติดเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด ดังนั้น ถือว่า 15 วันนับจากนี้ ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะถ้า “เอาไม่อยู่” มันก็น่าห่วง เพราะ “อารมณ์” หากคุมไม่อยู่ มันก็คาดเดาอะไรไม่ได้เลย !!