xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยังน่ากังวล เตียงไม่พอ พบเพิ่มเป็น 107 คลัสเตอร์ สมุทรปราการเจอคลัสเตอร์ใหม่ รง.ชิ้นส่วนรถยนต์ติดแล้ว 129 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผยไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 3,644 ราย กทม. และปริมณฑล ยังมีผู้ติดเชื้อสูง พบคลัสเตอร์เพิ่มต่อเนื่อง ยื่นเรื่องล็อกดาวน์เมืองกรุง เตรียมขยายเตียงเพิ่ม ขอความร่วมมือ รพ.เอกชน สมุทรปราการพบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งติดเชื้ออีก 129 ราย ส่วนในหลายจังหวัดยังคงพบคลัสเตอร์ใหม่

วันนี้ (25 มิ.ย.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,644 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 3,482 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 162 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 236,291 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,751 ราย สะสม 193,106 ราย กำลังรักษาอยู่ 41,366 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 17,402 ราย และโรงพยาบาลสนาม 26,664 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,603 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 460 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 44 ราย รวมเสียชีวิต 1,819 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,644 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,803 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 648 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 162 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 31 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 44 ราย ชาย 26 ราย หญิง 18 ราย กทม. 20 ราย สมุทรปราการ 12 ราย ยะลา สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย กาญจนบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ปัตตานี นครสวรรค์ ชลบุรี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยง มากสุดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุค่ากลาง 65.5 ปี อายุน้อยสุด 29 ปี อายุมากสุด 92 ปี มีเป็นชาวไทย 42 ราย เมียนมา 1 ราย ลาว 1 ราย

สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ยังพบผู้ติดเชื้อที่เข้ามาจากช่องทางธรรมชาติต่อเนื่อง
กลับจากมาเลเซีย 1 ราย (นราธิวาส) กลับจากเมียนมา 1 ราย กลับจากกัมพูชา 28 ราย (ทั้งจากสระแก้ว - จันทบุรี) จากที่พบวันนี้ 31 ราย มีเพียง 1 รายที่เข้ามาอย่างถูกต้อง

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 25 มิ.ย. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,152 ราย 2. สมุทรสาคร 295 ราย 3. ยะลา 215 ราย 4. ปทุมธานี 192 ราย 5. สมุทรปราการ 186 ราย 6. ชลบุรี 183 ราย 7. นนทบุรี 157 ราย 8. สงขลา 134 ราย 9. นครปฐม 119 ราย 10. ปัตตานี 79 ราย

แนวโน้มในประเทศ กทม. ปริมณฑล ยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มในระดับที่สูงต่อเนื่อง ยะลา, ปทุมฯ, สมุทรสาคร, นครปฐม, ปัตตานี ยังคงเพิ่มขึ้น

กทม. พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 คลัสเตอร์ โดยเขตบางขุนเทียน พบ 3 คลัสเตอร์ ในบริษัทผลิตถังแก๊ส, บริษัทขนม และบริษัทเครื่องสำอาง คลัสเขตบางบอน ในบริษัทผลิตเสื้อผ้า, ร้านขายภาชนะพลาสติก ที่บางแค, แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่สวนหลวง, แคมป์คนงานก่อสร้าง ในเขต คลองสามวา 2 แห่ง ทำให้ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 107 คลัสเตอร์

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่
- ปทุมธานี พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานขนม ลาดหลุมแก้ว, บริษัทผลิตลวดโลหะ อ.เมือง
- สมุทรปราการ คลัสเตอร์ใหม่ บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ อ.บางพลี
- นนทบุรี คลัสเตอร์ใหม่ บริษัทผลิตพลาสติก อ.บางกรวย
- นครปฐม พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานฆ่าสัตว์ อ.สามพราน
- ฉะเชิงเทรา คลัสเตอร์ใหม่ ในบริษัทผลิตสี อ.บางปะกง

ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่เหลือยังคงพบการติดเชื้อเพิ่มเติมในคลัสเตอร์เดิม ที่พบต่อเนื่อง

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ค่อนข้างน่ากังวล เตรียมขยายเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง-แดง จะมีการขอความร่วมมือ รพ.เอกชน เพิ่มจำนวนเตียง หาบุคลากรเพิ่ม โดยทางโรงเรียนแพทย์ จะมีการดึงแพทย์ที่กำลังจะจบใหม่เข้ามาช่วยในส่วนของ รพ.ต่างๆ ที่มีการขยายเพิ่มขึ้น จะยังคงเดินหน้า ขยายเพิ่มในการรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมใน กทม. ปริมณฑล

เนื่องจากการพบการระบาดในกลุ่มผู้ติดเชื้อใน กทม. มีความแตกต่างจากที่สมุทรสาคร โดยใน กทม. พบปัญหา เมื่อปิดแคมป์แล้ว มีการเล็ดลอดออกไปด้านนอก, มีการเคลื่อนย้ายคนงานไปยังแคมป์อื่น ทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ยังคงต้องเร่งดำเนินการควบคุมการระบาด/การแพร่กระจายมากขึ้น มีการยื่นเรื่องทบทวนการล็อกดาวน์ในพื้นที่ กทม. กรมควบคุมโรคเสนอล็อกเป็นจุดๆ หลายฝ่ายกังวลว่า การล็อกจะเป็นการกระจายไปยังพื้นที่อื่นหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบในคลัสเตอร์ มัรกัส เมื่อโรงเรียนปิด ก็มีการเคลื่อนย้ายไปติดยังจุดอื่น

อย่างตลาดสี่มุมเมือง มีประชาชนยังคงมีผู้ค้า-คนงานจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งผู้ค้า, รถพุ่มพวง, เกษตรกร ฯลฯ ทำให้ต้องมีตั้งศูนย์เฉพาะฯ ทำให้ตลาดสี่มุมเมือง สามารถจัดการเบ็ดเสร็จอยู่ได้ในกลุ่มตลาด ซึ่งทำให้ยังคงควบคุมโรคได้ ร่วมกับการควบคุมโรคได้ โดยในช่วงบ่ายนี้ จะมีการพูดคุยในเรื่องของการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมโรคเพิ่มเติม โดยทหารเสนอความพร้อมในการรายงานตัวของทหารเกณฑ์ในผลัดใหม่ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่าง กักตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่ค่ายทหาร ไม่มีการแวะระหว่างการเดินทาง ฝากถึงญาติของทหารใหม่ งด/เลี่ยงการไปส่งบุตรหลานของท่าน เพื่อควบคุมการระบาด


ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 207,428 ราย หายป่วยสะสม 165,680 ราย เสียชีวิตสะสม 1,725 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 180,765,742 ราย อาการรุนแรง 81,097 รายรักษาหายแล้ว 165,412,926 ราย เสียชีวิต 3,915,962 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,464,956 ราย
2. อินเดีย จำนวน 30,133,417 ราย
3. บราซิล จำนวน 18,243,483 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,764,329 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,393,248 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 76 จำนวน 236,291 ราย


























กำลังโหลดความคิดเห็น