รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้เดินทางและแรงงานต่างด้าวเข้าพื้นที่ เตรียมพร้อมการรักษาผู้ป่วยโควิดเป็นเครือข่ายในจังหวัดและเขตสุขภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระ กทม. พร้อมเพิ่มจำนวนเตียง รพ.บุษราคัมและต่อสัญญาใช้สถานที่ เปิดไอซียูสนามเพิ่ม ตั้งเป้าฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคให้ครบใน 2 เดือน
วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 โดย นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสำรวจทรัพยากรให้พร้อมดูแลผู้ป่วยโควิดและบริหารจัดการการรักษาผู้ป่วยในจังหวัดเป็นเครือข่าย มอบผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพบริหารจัดการเตียงและอุปกรณ์การรักษาภาพรวมในเขตสุขภาพ นอกจากนี้ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานกลับบ้าน เนื่องจากไม่สามารถห้ามการเดินทางได้ โดยขอให้ผู้เดินทางรายงานตัว อสม. เฝ้าระวังติดตาม รวมถึงมีการกักตัวตามมาตรการซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม.ที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก
“กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ เพื่อลดการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต โดยจะเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมีศักยภาพเพิ่มได้อีกหลายพันเตียง โดยวันนี้จะไปหารือกับทางเมืองทองธานี เพื่อขอต่อสัญญาใช้สถานที่ นอกจากนี้ ยังร่วมกับกองทัพบกจัดทำ cohort ward และไอซียูสนาม 186 เตียงที่มณฑลทหารบกที่ 11” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครอง เฝ้าระวังการหลบหนีหรือลักลอบเข้าประเทศ สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด ขณะนี้ฉีดแล้วมากกว่า 9 ล้านโดส เชื่อว่า จะสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส ตามเป้าหมายภายในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ได้กำชับให้ดำเนินการฉีดวัคซีนตามนโยบายของ ศบค.ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เน้นฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค ที่ได้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรมจัดหามาอย่างเพียงพอในทุกเดือน ล่าสุด มีข่าวดีว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาจจะขึ้นทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์ที่องค์การเภสัชกรรมใช้สารตั้งต้นมาผลิตในชื่อ “ฟาเวียร์” ได้ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากผ่านการทดสอบชีวสมมูลแล้ว โดยเดือนสิงหาคมจะผลิตได้เดือนละ 2 ล้านเม็ด