xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์จับตาโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ระบาดเพิ่มขึ้นใน กทม.เผยเจอในไทยแล้ว 20 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ภาพจากแฟ้ม)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ​เฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จับตาใกล้ชิดรายสัปดาห์ หากแพร่ก้าวกระโดด คาดระบาดในไทยภายใน​ 2-3​ เดือนนี้​ หลังพบผู้ป่วย 10 คน รักษาอยู่ใน รพ.ที่กรุงเทพฯ โดยอัตราการระบาดของสายพันธุ์นี้​เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40​% ส่วนสายพันธุ์เบตา ขยับเจอนอก อ.ตากใบ

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งข้ามายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. -13 มิ.ย. จำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 ราย คิดเป็น 89.6% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มขึ้น 137 ราย จาก 359 ราย ที่รายงานไปก่อนหน้านี้ เป็น 496 คน พบมากที่สุดใน กทม.สะสม 404 ราย เป็นรายใหม่ 86 ราย และ ยังพบ 10 ราย ใน รพ.กลางกรุงเทพฯ 3-4 แห่ง อัตราการเพิ่มขึ้น จาก 8% เป็น 9.8%

นอกจากนี้ ยังพบเพิ่มที่ ปทุมธานี 28 ราย นครนายก 8 ราย สกลนคร 3 ราย พะเยา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย เชียงราย เพชรบูรณ์ ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เลย และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย และก่อนหน้านี้ มีรายงานพบที่ จ.พิษณุโลก สมุทรสาคร ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย นนทบุรี สระบุรี ชัยภูมิ จังหวัดละ 2 ราย รวมมีรายงานเจอแล้วใน 20 จังหวัด

ขณะที่ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เดิมพบ 26 ราย ขณะนี้พบเพิ่มอีก 2 ราย นอก อ.ตากใบ แต่ยังอยู่ใน จ.นราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบอีก 3 ราย สถานกักกันตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลตา มากกว่าสายอัลฟา 40% ซึ่งต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด เป็นรายสัปดาห์ หากสถานการณ์ยังทรงๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่หากยังมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดด คาดว่า ประมาณ 2-3 เดือน อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากขึ้น สัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับสายพันธุ์อัลฟา ส่วนในต่างจังหวัดที่พบเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้นพบว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ มาก่อน โดยเฉพาะแคมป์คนงานหลักสี่ ข้อมูลที่กรมวิทย์ออกมารายงานให้ทราบสสม่ำเสมอนั้น ไม่ได้ต้องการทำให้ตกใจ แต่เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมโรค

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาวิจัยการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ใน 200 คน โดยนำเลือด หรือซีรัม มาตรวจสอบกับเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ต่างๆ พบว่าเมื่อตรวจกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมมีภูมิขึ้นสูง 100% สายพันธุ์อัลฟา ภูมิขึ้น 50-60% จะมีตรวจเพิ่มเติมในผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เป็นเวลา 3 เดือน 6 เดือน อีกครั้ง และขณะนี้กำลังทดสอบในคนฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯ 1 เข็ม รวมทั้งจะทำการทดสอบกับเชื้อเดลตา และเบตา เพื่อดูถึงประสิทธิภาพวัคซีนที่ได้รับขณะนี้ด้วย

นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจสายพันธุ์ต่างๆ เป็นการสุ่มตรวจเพื่อเป็นแนวทางเฝ้าระวัง โดยจะสุ่มตัวอย่างจาก 1. กลุ่มที่มีอาการรุนแรง 2. กลุ่มที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ 3. พื้นที่ที่ไม่เคยระบาดแต่มีการพบเชื้อ 4. ตามชายขอบชายแดน และ 5. กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น