ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำ มีอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง สถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย และสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝน
วันนี้ (3 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง สถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย และสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว รับน้ำด้านตะวันออกและตอนบนของกรุงเทพมหานครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
พื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งพระนคร มีคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวเป็นคลองสำคัญสายหลัก โดยคลองแสนแสบรับน้ำจากด้านตะวันออกมาบรรจบคลองพระโขนง เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนคลองลาดพร้าวรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงมาบรรจบคลองแสนแสบบริเวณบึงพระราม 9 คลองทั้งสองแห่งจึงมีความสำคัญในการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนด้านตะวันออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตระบบระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง เนื่องจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวเป็นคลองที่รับน้ำจากคลองย่อยหลายแห่ง อีกทั้งมีระยะทางไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเกิดฝนตกในพื้นที่ด้านตะวันออกและตอนบนของกรุงเทพมหานคร จึงต้องใช้ระยะเวลานานในการลดระดับน้ำในคลองแสนแสบ โดยการสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นเวลาหลายวัน แต่ยังลดระดับน้ำในคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้น้ำในคลองล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าว สำนักการระบายน้ำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 5 กม. ความลึกจากพื้นดิน 25 ม. เริ่มต้นที่อาคารรับน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว บริเวณบึงพระรามเก้า ไปตามแนวคลองแสนแสบ คลองตัน ถนนสุขุมวิท 71 ถนนสุขุมวิท คลองตัน คลองพระโขนง สิ้นสุดที่สถานีสูบน้ำพระโขนง อัตรากำลังสูบรวม 60 ลบ.ม./วินาที โดยรับน้ำจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ลงใต้ดินผ่านอุโมงค์ดังกล่าว ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 50 ตร.กม. พื้นที่เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง บึงกุ่ม สะพานสูง และพื้นที่ใกล้เคียง
สถานีสูบน้ำพระโขนง สถานีที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากที่สุด ด้วยอัตรากำลังสูบรวม 155 ลบ.ม./วินาที
สำหรับสถานีสูบน้ำพระโขนง เดิมเป็นประตูระบายน้ำในความดูแลของกรมชลประทาน ปัจจุบันได้โอนให้อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ สถานีสูบน้ำพระโขนง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 50 เขตคลองเตย ห่างจากปากซอยสุขุมวิท 50 ประมาณ 500 ม. พื้นที่สถานีสูบน้ำสร้างคร่อมคลองพระโขนงและอยู่ห่างจากปากคลองพระโขนงประมาณ 1 กม. รวมพื้นที่สถานีสูบน้ำ 16 ไร่ 67 ตารางวา เป็นสถานีสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร อัตรากำลังสูบรวม 155 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่สูบระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองประเวศ คลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว พื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 360 ตร.กม. รวมถึงรับและระบายน้ำฝน น้ำทิ้งจากชุมชน ในพื้นที่เขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรี หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าว โดยมีอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ที่ลำเลียงน้ำมายังสถานีสูบน้ำพระโขนงซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันนี้ โดยมีกำลังสูบน้ำออกไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 60 ลบ.ม./วินาที อีกด้วย
แก้มลิงบึงรับน้ำหนองบอนช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมเชื่อมต่อโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน
จากปัญหาการระบายน้ำจากด้านทุ่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ด้านตะวันออกเป็นที่ลุ่มและแอ่งกระทะ แต่เดิมเมื่อฝนตกปานกลางถึงหนัก จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นเวลานาน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องหาพื้นที่ชะลอน้ำหรือแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ก่อนในช่วงฝนตก และเมื่อน้ำในพื้นที่ลดลงจึงปล่อยน้ำออกจากบึงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพร่องไว้รับน้ำฝนในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง สำนักการระบายน้ำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน ตั้งอยู่บริเวณบึงรับน้ำหนองบอน เขตประเวศ กำลังสูบรวม 20 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในบึงรับน้ำหนองบอน ซึ่งมีปริมาตรกักเก็บน้ำ 5,000,000 ลบ.ม. โดยรับน้ำจากคลองมะขามเทศและคลองหนองบอนในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.-พ.ย. มากักเก็บไว้ และในช่วงฤดูแล้งเดือน ธ.ค.-เม.ย. จะระบายน้ำออกเพื่อการอุปโภคและถ่ายเทน้ำเสีย พื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 150 ตร.กม. ในเขตประเวศ สวนหลวง พระโขนง และพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9.4 กม. ความลึก 30 ม. โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ คาดว่าการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 64
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว สถานีสูบน้ำพระโขนง และสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน อย่างไรก็ตามการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีระบบที่ช่วยให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำคูคลองได้อย่างรวดเร็วอยู่หลายระบบ ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำนับว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยจะรับน้ำจากผิวจราจรและคลองในพื้นที่ เข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้งานแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ โดยจะรับน้ำจากพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ในพื้นที่เขตประเวศ สวนหลวง บางนา เริ่มจากบึงหนองบอนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ และในปี 65 กรุงเทพมหานครได้งบอุดหนุนจากรัฐบาลดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ อีกทั้งสามารถช่วยลดระดับน้ำในคลองให้มีระดับต่ำในระยะเวลาที่รวดเร็ว ในส่วนของการจัดเก็บขยะในคลองที่ลอยมาติดตะแกรงรับน้ำก่อนเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำนั้น สำนักการระบายน้ำได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะ ทดแทนการใช้แรงงานคน จากเดิม 20 คน เหลือเพียง 6 คน ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะมีขยะลอยมา 2-3 ตัน แต่ในช่วงเวลาฝนตกจะมีขยะลอยมาเป็นจำนวนมาก บางครั้ง 10-15 ตัน การจัดเก็บขยะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะลอยมาติดตะแกรงรับน้ำ ซึ่งส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการรับน้ำเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำลดลง