รฟม. เร่งก่อสรางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู ก้าวหน้า กว่า70% พร้อมเปิดให้บริการปี 2565 ส่วนสีส้ม (ตะวันออก) งานโยธาคืบกว่า 81% แผนเปิดบริการปี 67
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบ จำนวน 3 สาย ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2564 ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร. เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับ มีความก้าวหน้างานโยธาคิดเป็น 82.46% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้าคิดเป็น 72.45% และความก้าวหน้าโดยรวมคิดเป็น 78.11% (ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2564) คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ ภายในปี 2565
โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าที่งานสำคัญในส่วนของสถานีลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินงานสถาปัตยกรรมของสถานี เช่น งานเทพื้น ปูพื้น ก่อผนังห้อง งานคอนกรีต เป็นต้น โดยสถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอาคาร จอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าทั้งสองสายในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในส่วนของสถานีศรีกรีฑา ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานยกติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคาร งานติดตั้งผนัง งานปูพื้น เป็นต้น โดยสถานีนี้จัดเป็นสถานีที่สูงที่สุดของโครงการฯ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 17.87 เมตร (จากระดับพื้นถนน ถึง ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร)
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับ ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของสถานีรามอินทรา กม.9 ถนนรามอินทรา ความก้าวหน้างานโยธาคิดเป็น 77.57% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้าคิดเป็น 70.32% และความก้าวหน้าโดยรวมคิดเป็น 74.35% (ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2564) คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2565
ปัจจุบันอยู่ในระหว่าง การดำเนินงานติดตั้งหลังคาสถานี และงานสถาปัตยกรรมหลังคา นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในส่วนของสถานีมีนบุรี ถนนรามคำแหง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร เช่น ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ประตูทางเข้า ลิฟต์ บันไดทางขึ้น-ลง และงานสถาปัตยกรรมภายในสถานี เป็นต้น โดยสถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับทางแยกร่มเกล้า และจะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในอนาคต ทั้งยังเชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot)
3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Transit System) มีโครงสร้างทางวิ่งแบบอุโมงค์ใต้ดินผสมกับทางวิ่งแบบยกระดับ ความก้าวหน้างานโยธาคิดเป็น 81.03% (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) โดยมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2567
โดยปัจจุบันได้ดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างติดตั้งระบบรางรถไฟฟ้า ควบคู่ไปกับงานก่อสร้างสถานีใต้ดินและปล่องระบายอากาศ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของสถานีวัดพระราม 9 ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานติดตั้งกระเบื้องพื้นและผนัง งานติดตั้งราวบันได งานติดตั้งระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เป็นต้น
ในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่งยกระดับได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างก่อสร้างสถานียกระดับ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของสถานีแยกร่มเกล้า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานติดตั้งโครงหลังคาเหล็กและช่องแสง งานมุงหลังคาอลูมิเนียมชีท งานฉาบห้อง Plant Room งานติดตั้งงานระบบ งานติดตั้งท่อดับเพลิงใต้ท้องพื้น งานเชื่อมท่อรองรับน้ำฝน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเตรียมจะเข้าดำเนินการติดตั้งระบบรางในส่วนของทางวิ่งรถไฟฟ้าบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีใต้ดินกับสถานียกระดับ (Transition Structure) จากสถานีคลองบ้านม้า ไต่ระดับขึ้นสู่สถานีสัมมากร ในเร็วๆ นี้อีกด้วย
ทั้งนี้ รฟม. มีความมุ่งมั่นที่จะกำกับการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ให้รุดหน้าได้ตามแผนงาน ทั้งยังได้เน้นย้ำให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน ทุกสัญญา/ทุกโครงการ ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างครบถ้วน การจัดเจ้าหน้าที่ด้าน Safety ควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงาน การจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความปลอดภัยร่วมกัน อาทิ Safety Talk, Tool Box Talk เป็นต้น
เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานเอง คนรอบข้าง ตลอดจนบุคคลผู้สัญจรผ่านโดยรอบพื้นที่แนวก่อสร้าง โดย รฟม. ได้กำชับเป็นพิเศษสำหรับแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาสุขอนามัยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน โดยให้บุคลากรทุกภาคส่วนสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาทำงาน หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่างทางสังคม