xs
xsm
sm
md
lg

“หมอยง” เทียบโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่สเปน และ อหิวาตกโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ศ.นพ.ยง ย้อนมองไทยสมัยอหิวาตกโรคระบาด อัตราการเสียชีวิตก็น่าจะอยู่ที่ 1% ประมาณ 30,000 คน ต่อมาเกิดไข้หวัดใหญ่สเปนเสียชีวิต 80,000 คน หรือคิดราว 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร กระทั่งเกิดโควิด-19 ถ้าปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อจนมีภูมิต้านทานเอง คาดว่ามีการเสียชีวิตประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 7 แสนคน สภาพดังกล่าวเราคงยอมรับไม่ได้ ย้ำทางออกในวันนี้มีอยู่ทางเดียวคือต้องทำให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน ด้วยวัคซีน

วันนี้ (3 มิ.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” หัวข้อ โควิด-19 เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่สเปน และ อหิวาตกโรคในรัชกาลที่ 2

ในปี พศ 2363 โรคอหิวาตกโรคได้เกิดการระบาดใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่มีการบันทึก (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ไว้ว่า ห่าลงปีมะโรง คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 คน ซึ่งขณะนั้นประชากรประเทศไทยก็ไม่น่าจะมาก น่าจะอยู่ที่ 3 - 4 ล้านคน (คาดการณ์เอง) อัตราการเสียชีวิตก็น่าจะอยู่ที่ 1%

อีก 100 ปีต่อมา


ในปี พศ. 2461 ไข้หวัดใหญ่สเปน เข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ในเดือนตุลาคมปีพศ 2461 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เราได้ส่งทหารไปร่วมรบกับกองกำลังฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในขณะนั้นประเทศไทยปกครองแบบมี 17 มณฑล ( 73 จังหวัด) มีประชากรทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน เสียชีวิต 80,000 คน หรือคิดราว 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นับเป็นการเสียชีวิตที่ไม่น้อยจากโรคระบาด โรคสงบในเดือนมีนาคม 2462 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 136 27 กรกฎาคม พ. ศ. 2462)

100 ปีต่อมา

ปี พศ 2563 เราก็ต้องเผชิญกับโรคระบาดอีก คือโรค โควิด 19 เข้าสู่ประเทศไทยในเดือนมกราคม จากหญิงท่องเที่ยวชาวจีน หลังจากนั้นเราก็พบการระบาดมาจนถึงปัจจุบันเป็น 3 รอบ และเหตุการณ์ยาวมาถึง 1 ปีครึ่งแล้ว ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ เราได้พยายาม ยื้อให้มีการเสียชีวิตน้อยที่สุด และรอ วัคซีนมาทดแทนการติดเชื้อ เพื่อให้เปรียบเสมือนเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการให้น้อยที่สุด เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีภูมิต้านทาน เพื่อให้พ้นจากการเจ็บป่วยของโรคดังกล่าว ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างเมื่อ 100 หรือ 200 ปีที่แล้วที่ผ่านมา และถ้ามีการเสียชีวิตประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้ก็จะมีการสูญเสียถึง 7 แสนคน และโรคน่าจะสงบใน 1 ปี คือคนส่วนใหญ่ จะติดเชื้อ และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ สภาพดังกล่าวเราคงยอมรับไม่ได้ เราจึงมีแนวทางปฏิบัติทุกวิถีทางที่จะลดความรุนแรงของโรคลงให้ได้ เหตุการณ์จึงได้ยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ทางออกในวันนี้มีอยู่ทางเดียวคือต้องทำให้ทุกคนมีภูมิต้านทานคล้ายการติดเชื้อ ด้วยวัคซีน

ถึงเวลาแล้วที่ประชากรไทยทุกคน ควรจะได้รับวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานเป็นส่วนใหญ่เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และอัตราตาย ในที่สุด โรคก็จะสงบ ถ้าคนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน หรือการติดเชื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น