ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 3,440 ราย พบผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม 1,247 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 381 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้พบอายุน้อยสุด 10 เดือน กทม. ยังอยู่อันดับ 1 เผย คลัสเตอร์โรงงานแคลคอมพ์ กระจายเชื้อไปแล้ว 11 จังหวัด เข้มเฝ้าระวังคลัสเตอร์โรงงานแต่ละจังหวัดอย่างเข้มงวด และตรวจค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง
วันนี้ (2 มิ.ย.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,440 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,353 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,087 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 165,463 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 2,843 ราย สะสม 114,578 ราย กำลังรักษาอยู่ 49,777 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 22,350 ราย และโรงพยาบาลสนาม 27,427 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,247 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 381 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย รวมเสียชีวิต 1,107 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,440 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,175 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,163 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,087 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 15 ราย
โดยผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 3,440 ราย แบ่งเป็น ต่างประเทศ 15 ราย กรุงเทพมหานคร (ไม่รวมเรือนจำ) 680 ราย ปริมณฑล 5 จังหวัด (ไม่รวมเรือนจำ) 668 ราย จังหวัดอื่น 71 จังหวัด (ไม่รวมเรือนจำ) 990 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 1,087 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 38 คน แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร (ไม่รวมเรือนจำ) 18 คน ปริมณฑล (ไม่รวมเรือนจำ) 9 คน จังหวัดอื่น (ไม่รวมเรือนจำ) 11 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 38 ราย ชาย 24 ราย หญิง 14 อยู่ใน กทม. 18 ราย สมุทรปราการ 4 ราย ชลบุรี ปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย ฉะเชิงเทรา นนทบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด ราชบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยหลักเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค มีความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว มี 8 รายที่เสียชีวิตภายในสัปดาห์แรก บางรายตั้งแต่วันแรกที่ทราบผลการติดเชื้อ อาชีพคนขับรถประจำทาง, แท็กซี่, รปภ. รวมถึงค้าขายที่ต้องไปยังพื้นที่เสี่ยง อายุค่ากลาง 67 ปี อายุน้อยสุด 10 เดือน อายุมากสุด 95 ปี
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 2 มิ.ย. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 680 ราย 2. สมุทรปราการ 466 ราย 3. เพชรบุรี 449 ราย 4. ตรัง 176 ราย 5. สมุทรสาคร 78 ราย 6. นนทบุรี 62 ราย 7. ปทุมธานี 39 ราย 8. นราธิวาส 34 ราย 9. พระนครศรีอยุธยา 33 ราย 10. ชลบุรี 29 ราย
สถานการณ์โควิด-19 กทม. ปริมณฑลยังสูง โดย จ.สมุทรปราการ ยังคงพบที่คลัสเตอร์ตลาดสำโรง 186 ราย, โรงงานผลิต/จำหน่ายซอส, คลัสเตอร์ใหม่ที่โรงน้ำแข็งเพิ่มอีก 74 ราย, เคหะบางพลี จ.เพชรบุรี ยังคงเป็นคลัสเตอร์โรงงานแคลคอมพ์ พบกระจายไป 11 จังหวัด จ.ตรัง คลัสเตอร์ โรงงานถุงมือยาง จ.สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่โรงงานผลิตสินค้าเด็ก จ.นราธิวาส พบในชุมชน ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา พบคลัสเตอร์ใหม่ ในโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยยังคงมีการติดตามค้นหาเชิงรุกต่อเนื่องในโรงงานและชุมชนใกล้เคียง
สำหรับกลุ่มโรงงานแปรรูปไก่ ที่สระบุรี พบในพนักงานในหลายแผนก, ทั้งแรงงานไทย-ต่างชาติ ที่พักมีการพักรวมกัน, ใช้สิ่งของพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน โดยหลายจังหวัด มีการพบการระบาดในโรงงานหลายประเภท ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีพบติดเชื้อในหลายจังหวัด พบจุดเสี่ยง เช่น พื้นที่ในโรงงานมีความแออัด, การระบายอากาศไม่ดี, มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งโรงงานที่มีขนาดใหญ่ มีการติดเชื้อสูงถึง 20% ขณะนี้มีโรงงานขนาดใหญ่ราว 3,000 กว่าแห่ง หากไม่ผ่านเกณฑ์ จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปเป็นพี่เลี้ยง เพื่อช่วยกันในการแก้ปัญหา ให้ผ่านเกณฑ์มาตรการความปลอดภัย หากไม่ร่วมมือ ก็จะมีการพิจารณาลงโทษเพิ่มเติม และที่ผ่านมามีบริษัท โรงงาน เข้าขอคำปรึกษา ซึ่งทางกรมควบคุมโรคก็เข้าให้คำแนะนำ ป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 136,599 ราย หายป่วยสะสม 87,152 ราย เสียชีวิตสะสม 1,013 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 171,927,802 ราย อาการรุนแรง 90,672 ราย รักษาหายแล้ว 154,407,182 ราย เสียชีวิต 3,575,545 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,136,738 ราย
2. อินเดีย จำนวน 28,306,883 ราย
3. บราซิล จำนวน 16,625,572 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,677,172 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,256,516 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 82 จำนวน 165,462 ราย