ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า คาด 2-3 เดือน ฉีดเข็มแรกได้ 7-8 ล้านคน ขณะเร่งตรวจคัดกรองแคมป์คนงาน 400 แห่ง
วันนี้ (23 พ.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ณ บริเวณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย ว่า เพื่อความรวดเร็วและเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางมาฉีดวัคซีนนอกเหนือจากโรงพยาบาล 126 แห่ง กรุงเทพมหานครและหอการค้าไทย ได้เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนนอกรพ. ณ บริเวณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เป็น 1 ใน 25 “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ในการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลและทดสอบระบบการให้บริการ เป็นความร่วมมือการให้บริการระหว่างกรุงเทพมหานคร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อทดสอบระบบการให้บริการวัคซีนตามขั้นตอน ซึ่งมีการเตรียมระบบให้วัคซีนที่ปลอดภัยและครบถ้วนจนถึงการดูแลและสังเกตอาการ ตั้งเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 1,000 คน/วัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โดยวันนี้ได้ทดสอบระบบโดยทำการฉีดวัคซีน 520 คน ให้แก่กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ พนักงานเก็บขน พนักงานกวาด ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากสำนักงานเขตบางกอกน้อยและตลิ่งชัน อาสาสมัคร พนักงานขายอาหาร ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์ และต่อไปจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ ที่สำนักอนามัยได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของ กทม.
ทั้งนี้ กทม. จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 2 มิ.ย. 64 และเมื่อสามารถเปิดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. ได้ครบทุกแห่ง จะมีศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 38,000-50,000 คน/วัน และรวมกับศักยภาพการให้บริการฉีดภายในโรงพยาบาล 126 แห่ง วันละประมาณ 30,000 คน/วัน คาดการณ์ว่าภายใน 2-3 เดือน กทม. จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ประมาณ 7-8 ล้านคน จากนั้นจะฉีดเข็มที่ 2 รวมทั้งหมดคาดว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 15 ล้านเข็มขึ้นไป
สำหรับมาตรการความปลอดภัยภายในแคมป์คนงานที่ยังเปิดทำงาน กทม. อนุญาตให้ทำงานได้ตามมาตรการการควบคุมโรคโดยการกักตัวคนงานไม่ให้ออกจากที่ทำงานและที่พัก (Bubble and Seal) ซึ่งหากพบผู้ป่วยจะทำการคัดแยกและนำส่งโรงพยาบาล ส่วนคนงานที่ไม่ป่วย กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกับกระทรวงแรงงานทำการฉีดวัคซีนให้แก่คนงาน นอกจากนี้ จะเร่งตรวจคัดกรอง (swab) คนงานในแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่ประมาณ 400 แห่ง คนงานประมาณ 60,000 คน สำหรับการเข้มงวดจากการตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น กทม. มีความเข้มงวดในการควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการคัดกรอง การฉีดวัคซีน การให้คำแนะนำประชาชน รวมทั้งขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปฏิบัติเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทั้งที่ฉีดวัคซีนแล้วหรืออยู่ระหว่างรอรับบริการ ปฏิบัติตามหลัก D-M-H-T-T เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของทุกคน