โฆษก ศบค. เผยสถานการณ์คลัสเตอร์ต่างๆ ใน กทม. รวมแล้วที่ยัง active และต้องเฝ้าระวัง 30 คลัสเตอร์ พบคลัสเตอร์ใหม่“แคมป์คนงาน” ที่บางกะปิ ขอผู้ประกอบการดูแลคนงาน
วันนี้ (23 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ ประจำวัน ตอนหนึ่งระบุถึงคลัสเตอร์ หรือกลุ่มก้อนที่ต้องเฝ้าระวัง 30 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด ใน 18 เขต รวม 26 คลัสเตอร์ ดังนี้
- เขตบางกะปิ ตลาดบางกะปิ
- เขตหลักสี่ แคมป์ก่อสร้าง
- เขตคลองเตย ตลาดคลองเตย/ ชุมชนแออัดคลองเตย /แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง
- เขตดินแดง ตลาดห้วยขวาง /แฟลตดินแดง
- เขตห้วยขวาง ชุมชนโรงปูน /แคมป์ก่อสร้าง
- เขตบางรัก แคมป์ก่อสร้าง /สีลม
- เขตสาทร ชาวกินี
- เขตดุสิต สี่แยกมหานาค/สะพานขาว/ตลาดผลไม้
- เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองถมเซ็นเตอร์/เสือป่า/วงเวียน 22/ วรจักร /โบ๊เบ๊
- เขตพระนคร ปากคลองตลาด
- เขตบางกอกน้อย ตลาดศาลาน้ำร้อน
- เขตราชเทวี ประตูน้ำ /ชุมชนริมคลอง / แฟลตรถไฟมักกะสัน
- เขตบางซื่อ โกดังสินค้าให้เช่า
- เขตบางเขน ตลาดยิ่งเจริญ
-เขตบางพลัด แคมป์ก่อสร้าง
- เขตบางคอแหลม แคมป์ก่อสร้าง 2แห่ง
- เขตปทุมวัน แคมป์ก่อสร้าง
- เขตดอนเมือง แคมป์ก่อสร้าง
ส่วน 3 คลัสเตอร์เฝ้าระวัง เขตสวนหลวงร้านเฟอร์นิเจอร์ / เขตจตุจักร โรงงานน้ำแข็ง เขตสัมพันธวงศ์ / สำเพ็ง ทั้งนี้ สำเพ็งเป็นคลัสเตอร์เดิม กำลังเตรียมปิดเนื่องจากไม่มีผู้ป่วยใหม่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่าา ในส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดใน กทม. มีคลัสเตอร์เพิ่มขึ้น คือ บางกะปิ เชื่อมโยงแคมป์คนงานก่อสร้างรามคำแหง และคลัสเตอร์สำเพ็ง ซึ่งเป็นคลัสเตอร์เดิมที่กำลังจะปิดเคส แต่กลับมาใหม่อีก จึงต้องเรียนรู้ร่วมกัน อย่ามั่นใจว่าหายแล้วหายเลย แต่มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ถ้าการ์ดตก
ส่วนที่มีคนถามว่า สถานการณ์ กทม.จะอยู่อีกสักเท่าไหร่นั้น ต้องยอมรับว่า กทม.มีหลายคลัสเตอร์ หลายเขต มีลักษณะการแพร่กระจายของเชื้อแตกต่างกันไป มีความซับซ้อนในสังคมของ กทม. โดยเฉพาะที่เราเป็นห่วงคือแรงงานต่างด้าวที่พบในแคมป์คนงาน ในที่ประชุมจึงขอให้ผู้ประกอบการดูแลคนงานของท่าน ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือไม่เจ็บป่วยแต่ถูกบับเบิลแอนด์ซีล ขอให้ช่วยดูแลส่งข้าว ส่งน้ำ ร่วมด้วยช่วยกัน