จากความสำเร็จด้านการพัฒนาคุณภาพที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งการันตีด้วยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ TQC Plus และ รางวัล TQC จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำมาถอดบทเรียนสู่การเสวนาออนไลน์ “Mahidol TQC Winner Talk 2021” จากใจ 3 คณบดีของส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่คว้ารางวัลดังกล่าวในช่วงปี 2562-2563 ซึ่งได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะพยาบาลศาสตร์ จัดโดย กองพัฒนาคุณภาพ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาคุณภาพเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติและมวลมนุษยชาติต่อไป
การเสวนาออนไลน์นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์มุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกภายในปี พ.ศ.2573 ของ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้วางยุทธศาสตร์ที่เน้นด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมระดับโลก และการบริหารจัดการบนพื้นฐาน SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการสร้างกลุ่มวิจัยซึ่งมีศักยภาพในการผลักดันงานวิจัยที่มีผลกระทบ (impact) ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้ ได้มีการสร้าง Wisdom of the land platform ขึ้นมา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Social Engagement เพื่อส่งเสริมงานพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ บนแนวคิด “Great University Great Contribution” ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก นอกเหนือไปจากความโดดเด่นด้านวิชาการ
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้แทนส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่คว้ารางวัล TQC Plus ปี พ.ศ.2563 ว่า คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาชีพใด ล้วนสามารถทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติได้ทั้งสิ้น ซึ่งวิชาชีพแพทย์ในปัจจุบัน ลำพังความรู้ทางด้านสาธารณสุขไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติได้ แต่จะต้องรู้กว้าง และรู้ลึกในศาสตร์ของวิชาชีพอื่นด้วย เพื่อให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การบริหาร จากการเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน สู่การสร้างสุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ โดยการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ให้เกิดขึ้น ทั้ง Self trust หรือ ความเชื่อมั่นต่อตัวเอง Trust on others หรือ ความเชื่อมั่นต่อผู้อื่น และ Trust by others หรือ ความเชื่อมั่นโดยผู้อื่น ด้วยการปฏิรูปการศึกษา การวิจัย และการแพทย์ ที่เป็น Action based ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การสร้างวิสัยทัศน์ แต่สามารถปฏิบัติได้จริง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้แทนส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่คว้ารางวัล TQC ปี พ.ศ. 2562 ว่า จากความสำเร็จของ Rama Channel ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ โดยการให้องค์ความรู้ทางด้านการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้นำองค์ความรู้ทางการวิจัยมาผลักดันสู่นโยบายที่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชน โดยการให้ข้อมูลวิจัยแก่ผู้กำหนดนโยบาย (Policy maker) ได้เห็นคุณค่าของการรักษา และริเริ่มใช้พลังงานทดแทนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาระบบให้บริการผู้ป่วย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จ นอกจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี คือ การให้ความสำคัญต่อบุคลากรในองค์กรเพื่อจะได้ร่วมขับเคลื่อนสังคมสู่สิ่งที่ดีขึ้น สำหรับประเทศชาติและมวลมนุษยชาติต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้แทนส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่คว้ารางวัล TQC ปี พ.ศ. 2563 ว่า เนื่องด้วยวิชาชีพพยาบาล เป็นวิชาชีพที่ต้องเสียสละ และทำงานหนักเพื่อดูแลประชาชน จึงพบว่าปัจจุบันยังคงขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ด้วยบุคลากรพยาบาลทึ่มีอยู่อย่างจำกัด จึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะสามารถคงความเป็นมาตรฐานในระดับชาติและนานาชาติได้โดยไม่ละทิ้งภารกิจด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่การมีสุขภาวะที่ดี ตามพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเป็นผู้ให้กำเนิดสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์แห่งแรกของไทย ที่ไม่ได้มุ่งแต่การเป็นเสาหลักทางการพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งทำเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ และนอกจากนี้ จะต้องร่วมกับ Multidisciplinary team หรือทีมสหสาขาวิชาชีพ เปิดโลกทัศน์ พร้อมร่วมสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปอีกด้วย