xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เปิด รพ.สนามแห่งที่ 5 รองรับผู้ป่วยโควิด นำร่องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ป้องกันเชื้อลุกลาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อม โรงพยาบาลเอราวัณ 3 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม กทม. แห่งที่ 5 รับผู้ป่วยโควิดเขียว-เหลือง นำร่องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ป้องกันเชื้อลุกลาม ระบุเตียงรพ.สนาม-Hospitel ยังมี 1,441 เตียง

วันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อม “โรงพยาบาลเอราวัณ 3” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม กทม. แห่งที่ 5 เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ผู้บริหารเขตทุ่งครุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) เขตทุ่งครุ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการระบาดเพิ่มขึ้นและเป็นวงกว้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไปยังชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และลดความแออัดของผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล กรุงเทพมหานครจึงจัดตั้ง “โรงพยาบาลเอราวัณ 3” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยใช้พื้นที่ของศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด เปิดให้บริการผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง (โควิดเขียว) และสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย (โควิดเหลือง) เข้าดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ใช้พื้นที่อาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร จัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน โดยยิม 1 และยิม 2 จะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร ส่วนยิม3 และยิม 4 จะเป็นของผู้ป่วยหญิง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 342 เตียง ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (โควิดเขียว) ประกอบด้วยยิม 1 ชาย รองรับได้ 103 เตียง และยิม 3 หญิง 75 เตียง รวม 178 เตียง และสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย(โควิดเหลือง) ประกอบด้วย ยิม 2 ชาย 75 เตียง ยิม 4 หญิง 89 เตียง รวม 164 เตียง มีเครื่องเอกซเรย์ เครื่องทำออกซิเจน และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับดูแลผู้ป่วย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นผู้ดูแล โดยจะเปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าโรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 เตียง มีจำนวนเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ กทม. ได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนต่างๆ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโควิดเหลือง หรือแดง กทม. จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเขียวรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดซื้อมา 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีก 50,000 เม็ด รวม 100,000 เม็ด โดยจะเริ่มแจกผู้ป่วยที่เข้ามา รพ.สนาม คนละ 50 เม็ด ซึ่งใช้เวลารับประทานประมาณ 5 วัน และเชื่อว่า จะหายจากโรคไม่ลุกลาม บานปลาย และระยะต่อไป กทม.จะซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านทางมูลนิธิจุฬาภรณ์ อีก 500,000 เม็ด ซึ่งโดยปกติยาฟาวิพิราเวียร์ทางการแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ (โควิดเหลือง) แต่ กทม. เห็นว่าควรให้ทานตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเพื่อรักษาและป้องกันการลุกลามของโรค โดยกทม.จะนำร่องให้ยาก่อน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เนื่องจากต้องใช้เตียงในโรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลสนามทุกแห่งมีแนวทางการจัดการความปลอดภัย การป้องกันการแพร่เชื้อมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก โดยจะรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ต้องอยู่ภายในหอพักผู้ป่วยห้ามออกจากห้องโดยเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ห้ามบ้วนเสมหะหรือน้ำลายในถังขยะ เสื้อผ้าใส่ลงถังผ้าเปื้อน และปิดฝาให้เรียบร้อย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ไม่เดินพลุกพล่าน ไม่จับกลุ่มสนทนา และไม่เข้าไปในเขตปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมทุกกรณี แต่สามารถนำของเยี่ยมฝากไว้ได้ตามเวลาและสถานที่ทางโรงพยาบาลกำหนด ห้ามถ่ายภาพหรือโพสต์ข้อความที่เกี่ยวข้องลงบนสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายขณะรักษาตัว ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามเสพติดของมึนเมา และห้ามการพนัน

สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารักษา ณ โรงพยาบาลสนาม ขอให้เตรียมพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการมาอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ เสื้อผ้า จำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนที่เข้าพัก 14 วัน ของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และของใช้อื่นๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง ยารักษาโรคประจำตัว รวมทั้งข้อมูล ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม (ถ้ามี) โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ ใช้สำหรับดาวน์โหลดแอปลิเคชั่นไลน์ ในการติดต่อหอผู้ป่วยในการสื่อสารขณะรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม และหากจำเป็นต้องใช้น้ำร้อนสามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีบริการในส่วนนี้

สำหรับจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น 1,458 ราย ดังนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 215 เตียง โรงพยาบาลสนาม กทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 2,100 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,053 เตียง ยังว่างอยู่ 1,047 เตียง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 1,000 เตียง ครองเตียง 512 เตียง เตียงว่าง 488 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 149 เตียง เตียงว่าง 51 เตียง รพ.เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 76 เตียง เตียงว่าง 24 เตียง รพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 316 เตียงว่าง 84 เตียง และรพ.เอราวัณ 3 (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด) 400 เตียง เตียงว่าง 400 เตียง (อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติและสอบสวนโรคก่อนนำส่ง) และในส่วนของ Hospitel จำนวน 5 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 584 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 190 เตียง ยังว่างอยู่ 394 เตียง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ รพ.กลาง(อาคารหอพัก) 44 เตียง ครองเตียง 24 เหลือ 20 เตียง โรงแรมเออริเเกนแอพอร์ต 120 เตียง ครองเตียง 62 เหลือ 58 เตียง โรงแรมบ้านไทยบูทีค 300 เตียง ครองเตียง 23 เหลือ 277 เตียง โรงแรมข้าวสาร พาเลส 80 เตียง ครองเตียง 68 เหลือ 12 เตียง และอาคารพัชรกิติยาภา ม.นวมินทราชูทิศ 40 เตียง ครองเตียง 13 เหลือ 27 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 64)




















กำลังโหลดความคิดเห็น