เฟซบุคเพจ “มนุษย์ควัน” เผยรัฐบาลอุรุกวัยยกเลิกแบนยาสูบแบบให้ความร้อน (heated tobacco product) หลังพิจารณาผลวิจัยที่ชี้ว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการสูบบุหรี่ แนะไทยศึกษาผลวิจัย ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเลิกการปิดกั้นสิทธิ์ของผู้สูบบุหรี่ หากอยากก้าวหน้าด้านมาตรการควบคุมบุหรี่
นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน แอดมินเฟซบุคเพจ “มนุษย์ควัน” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2.6 หมื่นคน เปิดเผยว่า “รัฐบาลอุรุกวัยซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเข้มงวดในการควบคุมยาสูบและต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างเข้มแข็งเพิ่งตัดสินใจยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายยาสูบแบบให้ความร้อน หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกแบนมาตั้งแต่ปี 2560 นับเป็นการตัดสินใจสำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่จำนวนมากที่อาจต้องเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากควันที่มาจากการเผาไหม้ของบุหรี่ได้”
ประเทศอุรุกวัยได้ออกคำสั่งประธานาธิบดี ในปี 2560 ห้ามการจำหน่าย นำเข้า และการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของนิโคตินทุกประเภทที่นำเสนอว่าเป็นทางเลือกทดแทนการสูบบุหรี่ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้พยายามลดการบริโภคยาสูบด้วยการใช้มาตรการภาษี เพิ่มขนาดภาพคำเตือน หรือกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ แต่ภายหลังการพิจารณาผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ คณะรัฐมนตรีทั้งหมดเห็นว่ายาสูบแบบให้ความร้อนมีความเสี่ยงน้อยกว่าการสูบบุหรี่ และยอมรับว่าอุตสาหกรรมยาสูบสามารถมีบทบาทในการลดผลกระทบจากการสูบบุหรี่ได้ จึงได้ออกคำสั่งยกเลิกแบน และอนุญาตให้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ให้ความร้อนได้
“ในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับล่าสุดระบุว่ามีผลการวิจัยและหลักฐานเพิ่มขึ้นจำนวนมากว่ายาสูบแบบให้ความร้อนมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าบุหรี่ และช่วยให้ผู้ใช้ได้รับสารอันตรายน้อยลงได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการที่จะดูแลสุขภาพของคนในประเทศโดยการหาทางเลือกหรือสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาอันตรายของยาสูบ นี่นับเป็นความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขที่ไทยควรต้องพิจารณาอย่างยิ่ง เพราะยาสูบแบบให้ความร้อนนั้นสามารถขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายใน 66 ประเทศทั่วโลกแล้ว”
“แต่ประเทศไทยกลับไม่เคยสนใจนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาเลย เทคโนโลยีหลายอย่างที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีขึ้นก็ถูกแบน เช่นพวก AirBnB หรือGrab ก็ยังผิดกฎหมาย ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังย่ำอยู่ที่เดิม ยึดติดกับแนวทางเดิมๆ จึงไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ลงได้"
"หากประเทศยังไม่ปรับตัว ไม่เริ่มศึกษางานวิจัยที่เกียวกับผลิตภัณฑ์นี้ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย และไม่เปิดโอกาสให้ผู้สูบบุหรี่ได้เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนการสูบบุหรี่ เท่ากับปล่อยให้คนไทยต้องตายวันละ 191 คน หรือปีละ 70,000 คนต่อปีซึ่งถือรุนแรงกว่าโรคโควิดเสียอีก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์รับฟังข้อเรียกร้องของผู้ใช้และนำข้อมูลและงานวิจัยใหม่ๆ เหล่านี้มาทบทวนบ้าง และยกเลิกมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนเช่นประเทศอุรุกวัย”