จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1,940 ราย ติดเชื้อสะสม 68,984 ราย ยอดผู้ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 29,481 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 954 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย เสียชีวิต 21 คน สะสมนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดรวม 245 ราย
วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 07.00 น. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทย ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ดังนี้
พบจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 1,940 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 68,984 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 21 คน ยอดสะสม 245 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย
ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 40,121 ราย เสียชีวิตสะสม 151 ราย
ต่อมาเมื่อเวลา 11.33 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,788 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 142 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 68,984 ราย หายป่วยแล้ว 39,481 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 29,481 ราย
โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก 954 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 21 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 21 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 9 ราย ค่ามัธยฐานของอายุ 66 ปี (34-88 ปี) ขณะป่วยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร 8 ราย เชียงใหม่ 4 ราย ชลบุรี และลําพูน จังหวัดละ 2 ราย นครปฐม ตาก ระยอง นครสวรรค์ และอุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย
มีโรคประจําตัว และปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง (11) เบาหวาน (6) โรคหัวใจ (4) ไขมันในเลือดสูง (6) โรคหลอดเลือดสมอง (1) มะเร็ง (2) อ้วน (BMI>30 kg/m2) (3) ติดเตียง (3) โรคปอดเรื้อรัง (1) โรคไตเรื้อรัง (3) ปฏิเสธโรคประจําตัว (3)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ (7) สัมผัสใกล้ชิดเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน (1) สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน (6) สัมผัสผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อ (2) อาศัยในพื้นที่ระบาด (3) ไม่ทราบ (1) และติดเชื้อขณะนอนอยู่ใน รพ. (2)
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 152,800,831 ราย อาการรุนแรง 111,937 ราย รักษาหายแล้ว 130,074,353 ราย เสียชีวิต 3,206,451 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,146,008 ราย 2. อินเดีย จำนวน 19,549,656 ราย 3. บราซิล จำนวน 14,725,975 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,642,359 ราย 5. ตุรกี จำนวน 4,849,408 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 102 จำนวน 68,984 ราย
สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 รวม 1,484,565 โดส
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ใช้มาตรการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสถานประกอบการและร้านจำหน่ายอาหาร ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งก็เข้าใจดีว่าได้รับผลกระทบ แต่อยากให้เห็นตัวเลขสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงรายวัน ซึ่งเริ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหากทุกคนร่วมมือกัน