ศบค.เผย “ศูนย์แรกรับและส่งต่อ” พร้อมเปิดช่วยคนป่วยติดโควิดมีที่รักษา เร่งควบคุมการระบาดในกรุงเทพฯ และยังน่าห่วง แม้ตัวเลขผู้ป่วยจะลดลง แต่ยังไม่นิ่งนอนใจ ขอให้ประชาชนงดการเดินทาง แต่หากคนที่ยังจำเป็น ก็ให้ประสานไปยังด่านตรวจต่างๆ
วันนี้ (30 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข วันนี้ เป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้ออยู่ในทุกเขต โดยในช่วงวันที่ 27-30 เมษายน 2564 มีแผนการตรวจคัดกรองเชิงรุก ในพื้นที่ชุมชนแออัดคลองเตย, ศูนย์การค้าไอทีสแควร์, ซอยสุขสวัสดิ์ 24, พื้นที่ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (สน.บึงกุ่ม, สน.วังทองหลาง, สน.โชคชัย) สยาม, ประตูน้ำ, สยามพารากอน, ศูนย์ราชการ (TOT, DSI,ไปรษณีย์ไทย), พื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (สน.บางซื่อ, สน.บางเขน, สน.สุทธิสาร), โรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้า โดยมีเป้าหมายคัดกรองเชิงรุกกว่า 5,300 ราย พร้อมจัดวางกลยุทธ์และแนวทางในการควบคุมการระบาดในกรุงเทพฯ ทั้งการห้ามกิจกรรมเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยง การตรวจเชิงรุก และการเฝ้าระวัง
ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยที่อาคารกีฬานิมิตรบุตร ซึ่งเริ่มเปิดรับผู้ป่วยวันนี้ (30 เม.ย. 64) เป็นวันแรก มีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังหาเตียงไม่ได้ ยังตกค้างอยู่ที่บ้าน หรือยังไม่มีรถพยาบาลไปรับจริงๆ สามารถโทรได้ที่เบอร์ 02-079-10000 ซึ่งมีจำนวน 40 คู่สาย โดยบริษัท เอไอเอส สนับสนุนตั้งคอลเซ็นเตอร์ให้ผู้ป่วยที่เข้ามายังศูนย์แรกรับและส่งต่อนี้ จะได้รับการตรวจซ้ำคัดแยกอาการ หากเป็นผู้ป่วยอาการหนักมาก หรือสีแดง จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทันที แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการไม่หนักมากนัก จะได้รับการรักษาอยู่ภายในศูนย์แห่งนี้ ซึ่งมีการระดับบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ อุปกรณ์ รถเอ็กซเรย์และรถชีวนิรภัย พร้อมให้บริการ
ส่วนในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจะเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว หากไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านไลน์หมอพร้อม สามารถติดต่อโรงพยาบาลที่ใช้บริการอยู่ หรือแจ้งกับ อสม.ประจำหมู่บ้านได้ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนวันที่ 1 พ.ค.เท่านั้น สามารถทยอยลงทะเบียนได้
โฆษก ศบค.ยังขอให้ประชาชนงดการเดินทาง แต่หากคนที่ยังจำเป็นต้องเดินทาง ก็ได้ประสานไปยังด่านตรวจต่างๆ ไม่ให้มาตรการที่ทำให้ประชาชนลำบาก อาจจะขอซักถามบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารมายืนยัน
นอกจากนี้ ยังย้ำว่า การออกมาตรการข้อกำหนดต่างๆ ของ ศบค. มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลการระบาดที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค หรือพฤติกรรมเสี่ยง ดังนั้นมาตรการต่างๆ ได้ผ่านการวิเคราะห์พิจารณามาอย่างรอบด้านของทีมแพทย์ ซึ่งคณะทำงานทุกฝ่ายพยายามทำอย่างดีที่สุด พร้อมขออภัยหากมาตรการบางอย่างส่งผลกระทบกับประชาชน แต่รัฐบาลจะดูแลเยียวยาให้ดีที่สุด