xs
xsm
sm
md
lg

ภาพเบื้องหลังห้องตรวจเชื้อโควิด-19 หมอทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน “อ่อนล้าไปบ้าง แต่ไม่ท้อถอย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.รพ.สิชล เผยภาพเบื้องหลังการทำงานในห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 พบสภาพหมอต้องปูเสื่อนอนกับพื้นทุ่มเททำงานอย่างหนัก 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นอีกมุมหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ แม้อ่อนล้าไปบ้าง แต่ไม่ท้อถอย”

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล เปิดเผยภาพเบื้องหลังความทุ่มเททำงานของเจ้าหน้าที่ ในส่วนของการตรวจหาเชื้อโควิด ที่ต้องทำอย่างหนักแข่งกับเวลา เพื่อที่จะป้องกันการระบาด และทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

โดยโพสต์ระบุว่า “เบื้องหลังการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ ต้องใช้นักเทคนิกการแพทย์ ที่มีความชำนาญด้านการตรวจอณูชีววิทยา ที่ต้องมีการรายงานผลที่แม่นยำ ทันเวลา ต่อการควบคุมโรคและการรักษา รวมถึงการป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ การไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องติดเชื้อ จะยิ่งบั่นทอนกำลังในการทำงาน เมื่อตัวอย่างได้ถูกส่งมาถึงห้องปฏิบัติการ ขั้นตอนแรกตรวจสอบความถูกต้อง ลงบันทึกข้อมูลในระบบ จึงเข้าห้องสกัดเชื้อ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องใส่ชุดป้องกันสูงสุด หน้ากากn95 และแยกเชื้อในตู้ปลอดเชื้อ หลังจากนั้นนำเข้าเครื่องสกัดโดยสกัดได้ครั้งละ 32 ตัวอย่าง รอเวลาประมาณ 30-40 นาที ต่อรอบ เมื่อได้ตัวอย่างที่สกัดแล้ว จะนำเข้าไปเติมน้ำยาให้มีการขยายเชื้อก่อนเข้าสู่เครื่องอ่าน ที่สามารถอ่านได้ครั้งละ 94 ตัวอย่าง ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานประมาณ 3 ชั่วโมง รวมเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ที่ต้องทำต่อเนื่อง ต่อ 1 รอบ ถ้าทำวันละ 4 รอบ ตรวจได้วันละ 376 ตัวอย่าง ใช้เวลาทำงาน 20 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อยที่ต้องอยู่ในห้องปฏิบัติการ ยังไม่รวมถึงการถอดชุดออกมากินข้าว เข้าห้องน้ำ การใส่ชุดเปลี่ยนชุด การลงบันทึกข้อมูล การส่งรายงาน หากตัวอย่างที่เข้ามามาก งานก็มากไม่ได้หยุดพัก ที่ผ่านมาบางวันกว่า 600 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่แทบไม่มีเวลานอน ต้องอาศัยพื้นที่หน้าห้องปูเสื่อพอได้งีบบ้าง

รอบสุดท้ายจะเข้าเครื่องอ่านตอนตีสาม แล้วออกมาเคลียร์เอกสาร แปลผลรอบก่อนหน้านี้ เพื่อรายงานกรณีผลบวกไปก่อน เช้ามาก็มาอ่านรอบที่ลงเครื่องไว้ หมุนวนกันไปแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะคุมการระบาดได้

ในช่วงนี้มีการระบาดรุนแรง ทางโรงพยาบาลสิชล จึงได้เพิ่มกำลังการตรวจอีกเท่าตัว โดยวางเครื่องสกัดและเครื่องอ่านผลอีก 1 ชุด ทำให้สามารถตรวจได้วันละ 800 ตัวอย่าง จะช่วยทำให้รายงานผลทันเวลา ภายใน 24 ชั่วโมง

เป็นอีกมุมหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อประชาชนคนไทย ทุกคนสามารถช่วยได้ ต้องหยุดปัจจัยเสี่ยงต่อการกระจายเชื้อ เพราะปัจจุบันไม่รู้ว่ารับเชื้อจากที่ไหนมีมากขึ้นเรื่อยๆ การตามรอยโรคจึงยากแก่การควบคุม #อ่อนล้าไปบ้าง แต่ไม่ท้อถอย”


#เบื้องหลังการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ต้องใช้นักเทคนิกการแพทย์...Posted by Arak Wongworachat on Sunday, April 25, 2021













กำลังโหลดความคิดเห็น