นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พันคนต่อวัน และขยายวงกว้างไปเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย พฤติกรรมหนึ่งที่ทำให้โควิด-19 เกิดปรากฎการณ์ขยายวงกว้าง (Super spreader) เร็ว คือ การไปผับ/บาร์ ดื่มเหล้าสังสรรค์ โดยไม่สวมหน้ากาก และไม่เว้นระยะห่าง เพราะ การดื่มเหล้าทำให้ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้นดื่มแก้วแรก เพราะเมื่อร่างกายมีแอลกอฮอล์ในเลือดจะทำให้คนดื่มขาดการยับยั้งชั่งใจ กระบวนการคิดและการเคลื่อนไหวแย่ลง เช่น การกอด การยืนใกล้กันมากเกินไป การมีกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการหายใจแรงขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เอื้อต่อการแพร่เชื้อชัดเจน เพราะเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด มีอากาศถ่ายเทน้อยจนทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อโควิด-19
“การหยุดดื่มเหล้า งดงานเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงโควิด-19 จะช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดในระบบบริการสุขภาพได้ เพราะทำผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลง จนสามารถกระจายบุคลากรไปปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยที่จำเป็นได้ สะท้อนความคุ้มค่ามหาศาลในการหยุดเชื้อโควิด-19 สสส. ขอเชิญชวนให้ทุกคนงดพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในบ้าน ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่าง ๆ เพื่อหยุดวงจรระบาด” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า พบข้อมูลวิชาการจำนวนมากชี้ชัดว่า การดื่มเหล้าหนักนอกจากเพิ่มความเสี่ยงให้คนดื่มเหล้าสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ยังทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เพราะเหล้าทำให้อวัยวะในร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เสื่อมและทำงานผิดปกติ และเมื่อดื่มเหล้าเข้าไปในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ฤทธิ์ของเหล้าจะเข้าไปทำให้ภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดในร่างกายบกพร่อง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (innate) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired) นอกจากนี้การดื่มเหล้ายังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถตรวจจับ กำจัด และทำลายเชื้อโควิด-19 หรือต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ๆได้ โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.แอลกอฮอล์ไปเพิ่มจำนวนตัวรับ (receptors) ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2.แอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินปกติ อวัยวะทำงานผิดปกติ จนมีภาวะแทรกซ้อน “อักเสบรุนแรง (hyper-inflammation)” และ 3.แอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่อง