xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยืนยันวัคซีนไทยไม่ล่าช้า เป็นไปตามแผน พร้อมฉีดให้คนไทย มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันการฉีดวัคซีนของไทยเป็นไปตามแผน ไม่ได้ล่าช้า ฉีดแล้ว 618,583 ราย เข็มแรก 535,925 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 82,658 ราย ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ใน Line Official Account หมอพร้อม หรือแอปพลิเคชัน หมอพร้อม ในเดือนพฤษภาคม 


 
 


วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 รายมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,058 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 326 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 104 ราย เสียชีวิต 3 ราย ทำให้การการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน มีผู้ติดเชื้อสะสม 14,878 ราย หายป่วยแล้ว 1,361 ราย และเสียชีวิตสะสม 10 ราย ทั้งนี้ การติดเชื้อระลอกแรกเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 ระยะเวลา 11 เดือนครึ่ง มีการติดเชื้อ 4,237 ราย ส่วนระลอกเดือนธันวาคม 2563 ประมาณ 3 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อ 24,626 ราย สูงขึ้น 6 เท่าจากระลอกแรก ขณะที่ระลอกเดือนเมษายน 2564 เพียง 3 สัปดาห์ มีผู้ติดเชื้อ 14,851 ราย สูงกว่าการระบาดระลอกแรก 3 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่จากสถานบันเทิง ไปสู่บ้าน ที่ทำงาน และกระจายในทุกจังหวัด


สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย รายแรกเป็นชายไทย อายุ 56 ปี ทำงานในสถานบันเทิง สุขุมวิท มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดสมองตีบ เดินทางกลับ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ และผลตรวจภรรยาพบติดเชื้อเช่นกัน รายที่ 2 หญิง 84 ปี อยู่ใน กทม. เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ติดเชื้อจากหลานชายที่ทำงานสถานบันเทิงมาเยี่ยม รายที่ 3 หญิงอายุ 61 ปี อาชีพค้าขาย ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไทรอยด์ มีประวัติรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า ทั้ง 3 รายเสียชีวิตวันที่ 18 เมษายน 2564

นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงวันที่ 1-18 เม.ย. 2564 พบ 146 ราย สาเหตุการติดเชื้อจากภายนอกโรงพยาบาล 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.5 ติดเชื้อในโรงพยาบาล 55 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.7 ในจำนวนนี้ ติดเชื้อขณะดูแลรักษาผู้ป่วยยืนยัน 33 ราย ติดจากเพื่อนร่วมงาน 22 ราย และ อีก 29 รายอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยพบการติดเชื้อใน 35 จังหวัด มากที่สุดใน กทม. 38 ราย สุพรรณบุรี 11 ราย ชลบุรี 8 ราย ราชบุรี 8 ราย รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ถูกกักตัวอีกจำนวนมาก


สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมวันที่ 28 กุมภาพันธ์-18 เมษายน 2564 รวม 618,583 ราย เป็นผู้ได้รับเข็มแรก 535,925 ราย และได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 82,658 ราย โดยการฉีดวัคซีนไม่ได้ล่าช้า มีการบริหารจัดการเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ ในระยะที่พบการระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้จัดหาวัคซีนมาเพิ่มเพื่อใช้ในสถานการณ์เร่งด่วน ได้แก่ วัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส ทยอยส่งมา 2 แสนโดส และ 8 แสนโดส ซึ่งฉีดครบภายในเดือนมีนาคม อีก 1 ล้านโดสได้รับเมื่อวันที่ 10 เมษายน กระจายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เน้นฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงฉีดบุคลากรภาครัฐด่านหน้า ประชาชนที่มีโรคประจำตัว และสำรองใช้ควบคุมการระบาด ทั้งนี้ระยะต่อไปประชาชนจะได้รับวัคซีนหลักคือแอสตร้าเซนเนก้าในเดือนมิถุนายน

ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เกิดการระบาดเป็นการเสียเปล่าหรือไม่ นายแพทย์เฉวตสรร อธิบายว่า ไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอน เนื่องจากในพื้นที่นั้นไม่ได้ติดเชื้อทุกคน การฉีดวัคซีนย่อมกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน สำหรับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์วัคซีนแล้วทำให้ได้วัคซีนล่าช้า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากวัคซีนที่จะได้รับเป็นวัคซีนที่จะผลิตจากอินเดีย ซึ่งขณะนี้ระงับการส่งออก การที่ไทยตัดสินใจเจรจาโดยตรงกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทำให้เราได้วัคซีนตามแผน และที่สำคัญ จะทำให้มีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ สร้างความมั่นคงด้านวัคซีน 


ทั้งนี้ ประชาชนที่สมัครใจจะรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะมาในเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้ลงทะเบียนใน Line Official Account หมอพร้อม หรือทางแอปพลิเคชัน หมอพร้อม ในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งแจ้งความจำนงได้ที่ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ สำหรับผู้ที่ป่วยที่มีโรคประจำตัว โรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะติดตามมารับการฉีด


กำลังโหลดความคิดเห็น