โฆษก กทม. เผย จะมีการพัฒนาทางเท้าบริเวณแยกปทุมวัน จนถึงแยกราชประสงค์ เป็น“ต้นแบบทางเท้า” ที่สมบูรณ์ที่สุด เร่งวางรูปแบบ เคลียร์ฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา คาดเริ่มดำเนินการปรับปรุงได้ ส.ค. นี้ พร้อมชวนประชาชนเสนอรูปแบบฟุตปาธใหม่
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang” บอกเล่าเรื่องราว ปัญหาทางเท้าในกรุงเทพมหานคร โดยระบุข้อความว่า ทางเท้าถนนพระราม 1 กำลังจะเปลี่ยนไป ปัญหาทางเท้าในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่มีมานานมาก กทม. ได้พยายามแก้ไขปัญหาไปแล้วในบางจุดและยังเดินหน้าต่อไป โดยจัดรูปแบบโครงสร้างและจัดระเบียบทางเท้าให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคน ปัญหาทางเท้ากรุงเทพฯต้องมีการแก้ที่ตรงจุด ต้องเริ่มด้วยด้วยการจัดระบบสาธารณูปโภคบนดินและใต้ดินที่เหมาะสม โดยจะแก้ปัญหาทางเท้าที่เต็มไปด้วยฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา มีกระเบื้องแตก ยุบเป็นหลุม และการทรุดตัวน้ำขัง
ถนนพระราม 1 บริเวณแยกปทุมวัน จนถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่มีคนสัญจรต่อวันมากที่สุด หากใครเคยไปเดินก็จะรู้ว่า บนทางเท้ามีฝาท่อเยอะมากและมีกระเบื้องแตก เพราะถูกขุดเจาะซ่อมสาธารณูปโภคแล้วทำกลับมาสภาพไม่ดีเหมือนเดิม
การพัฒนาทางเท้าถนนพระราม 1 ครั้งนี้ ไม่ได้เน้นการทำให้สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เป็นทางเท้าที่ดีเหมาะกับการใช้งานของทุกคน และแก้ปัญหาพื้นฐานที่จะเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาถนนทั้งหมดในกรุงเทพ ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาทางเท้า จะพบปัญหาหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่
1. ระบบสาธารณูปโภค ทางเท้าที่ถูกขุดเพื่อซ่อมแบบไร้ระเบียบเป็นต้นต่อปัญหา ทำให้การขุดถนนซ่อมแซมก็ไร้ระเบียบ
2. การเว้นพื้นที่ปลูกต้นไม้ไม่เพียงพอ เมื่อต้นไม้โตขึ้น จะมีรากชอนไชกระเบื้องทางเท้าให้นูนขึ้น แตก และหลุดออกจากพื้น
3. การใช้ทางเท้าผิดประเภท มีทั้งการจอดรถและขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
การออกแบบทางเท้าถนนพระราม 1 ช่วงแยกปทุมวันจนถึงแยกราชประสงค์ จึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้เดินทางสัญจรสำหรับทุกคน ที่คงทนแข็งแรงและง่ายต่อการบำรุงรักษา เพื่อจะได้เป็น #ต้นแบบทางเท้า ที่เป็นมาตรฐานในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้แก่
1. จัดระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง และจัดให้มีพื้นที่สำหรับซ่อมแซมบำรุงระบบสาธารณูปโภคในแนวเดียวกัน โดยกำหนดพื้นที่ติดตั้งให้ห่างจากขอบทางเท้าไม่เกิน 15 ซม. และผสานให้อยู่แนวเดียวกับพื้นที่สีเขียว
2. เมื่อมีแนวพื้นทางเท้าที่ไม่ต้องขุด โครงสร้างพื้นทางเท้าสามารถใช้คอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับถนนคนเดินสายหลัก ให้คงทนและปูกระเบื้องทับ ไม่ให้ทางเท้ากระเดิดแบบฐานบดอัด
3. ขยายทางเท้าให้มีความกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตร ตามมาตรฐานสากล โดยจัดระเบียบป้าย เสาไฟ พื้นที่สีเขียว ให้อยู่ในแนวเดียวกัน ทำฐานป้ายทุกป้าย ฐานเสาทุกอุปกรณ์บนถนนให้เรียบเสมอทางเท้าด้วย และปรับขนาดป้อมตำรวจให้มีขนาดเล็กลง
4. ปรับระดับทางเท้าให้สูงจากพื้นถนนไม่เกิน 10 ซม. เพื่อไม่ให้ชันเกินไปเวลาทำทางลาด
5. ปูพื้นทางเท้าด้วยวัสดุเรียบง่าย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เวลาเปลี่ยนกระเบื้องจะได้ง่าย
6. กำหนดแนวปลูกต้นไม้ให้ชัดเจน เป็นแนวเดียวกับการติดตั้งสาธารณูปโภค เสาไฟ และป้าย นอกจากเพื่อความร่มรื่นแล้ว ยังให้เป็นพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) โดยปรับองศาทางเท้าให้สโลปเพื่อให้น้ำไหลลงพื้นที่ Rain Garden ไม่ท่วมขังบนฟุตปาธเมื่อฝนตก
7. ทำทางเท้า สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีแผ่นทางเท้าคนพิการ (Braille Block) และทางลาดเชื่อมต่อทางเดินอย่างปลอดภัย
ในตอนนี้ ได้เริ่มพัฒนาทางเท้าไปแล้ว โดยร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภครื้อย้ายสิ่งของที่ไม่ได้ใช้งานออก และทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันพัฒนาทางเท้า ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปรับปรุงทางเท้าได้ในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ เพื่อให้ ทางเท้าที่ถนนพระราม 1 เป็น “ต้นแบบทางเท้า” ที่สมบูรณ์ที่สุด ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเสนอแนะ “รูปแบบทางเท้า” กันด้วยนะครับ
🚶ทางเท้าถนนพระราม 1 กำลังจะเปลี่ยนไป
ปัญหาทางเท้าในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่มีมานานมาก กทม....Posted by เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang on Thursday, March 25, 2021