รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอก 3 ชั้น โรงพยาบาลบ้านค่าย จ.ระยอง เพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยทำงานในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ลดแออัด
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลบ้านค่าย จังหวัดระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอก 3 ชั้น และให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลบ้านค่าย เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ ขนาดเล็ก ขนาด 30 เตียง มีอาคารผู้ป่วยนอก 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง ต้องรับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย จำนวน 14,050 ราย คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน นอกจากนี้ อำเภอบ้านค่ายยังอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีประชาชนเข้ามาทำงานและอาศัยสูงขึ้นทุกปี จึงต้องดูแลสุขภาพในกลุ่มวัยทำงานอีกด้วย ทำให้สถานที่เดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรับรองการให้บริการได้ มีสภาพคับแคบและแออัด จึงมีแผนเพิ่มศักยภาพยกระดับโรงพยาบาลขยายเป็น 60 เตียง และสร้างอาคารผู้ป่วยนอกเพิ่ม เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มวัยทำงานในพื้นที่และใกล้เคียง ให้ได้รับการบริการที่สะดวก ลดความแออัด โดยจะได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ
สำหรับอาคารผู้ป่วยนอก สร้างขึ้นบนที่ดินบริจาคของนายสุเชษฐ์ นางกัญจน์รัตน์ ศศิรัตนนิกุล และครอบครัว จำนวน 4.59 ไร่ โดยได้มีการส่งมอบเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ภายในอาคารประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ชั้นที่ 2 ห้องทันตกรรมและห้องตรวจแล็บ ชั้นที่ 3 ห้องประชุมและสำนักงาน ได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 67,020,300 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2566
ทั้งนี้ โรงพยาบาลบ้านค่าย เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้รับบริการผู้ป่วยนอก 158,290 รายต่อปี เฉลี่ย 553 รายต่อวัน โรคที่พบส่วนใหญ่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต ระบบทางเดินหายใจ และกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดจากการทำงาน ส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 50 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 10,398 ราย และโรคเบาหวาน 9,860 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้สูงอายุถึงร้อยละ 65 อัตราเฉลี่ยการเข้ารับบริการของกลุ่มผู้สูงอายุ 5.22 ครั้งต่อคนต่อปี มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยนอกทั่วไปที่มีอัตราเฉลี่ยการเข้ารับบริการเพียง 2.36 ครั้งต่อคนต่อปี