xs
xsm
sm
md
lg

กรมการแพทย์แนะเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในช่วงเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะผู้ปกครองดูแลสุขภาพของลูก ในช่วงเปิดเทอม ป้องกันจากโรคตาแดง โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก

วันนี้ (18 มี.ค.) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาเปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่เด็กได้เรียนและรวมตัวทำกิจกรรม ในโรงเรียน ทำให้เกิดการสัมผัสซึ่งกันและกัน อีกทั้งมีความแออัดจากการร่วมกิจกรรม หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับเพื่อนในห้อง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุ 2-5 ปี นอกจากนี้ ช่วงเปิดเทอมเป็นการเข้าสู่สภาพอากาศฤดูฝน ความชื้นในฤดูฝนอาจเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ เช่น โรคตาแดง โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคตาแดง โรคมือ- เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก ทั้ง 5 โรคนี้ มีอาการแตกต่างกัน โรคตาแดง อาการ คือ ตาแดง คันตา ปวดตา มีขี้ตามากผิดปกติ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เยื่อบุตา ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำตาและขี้ตาของผู้ป่วย โรคมือเท้าปาก อาการ คือ มีไข้ มีตุ่มอักเสบที่ ปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส หรือ ผื่นนูน มักพบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มพอง ของผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วง อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ้าอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว 

โรคนี้เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมถึงการจับของเล่นสกปรกเข้าปากของลูกน้อย โรคไข้หวัดใหญ่ อาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ จาม อ่อนเพลียและปวดกล้ามเนื้อ มักติดต่อกันได้ง่าย ผ่านลมหายใจ ไอ จาม และละอองน้ำมูก หรือติดต่อจากการใช้สิ่งของที่มีเชื้อของผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานที่ ที่มีคนแออัดมาก โรคไข้เลือดออก อาการ มีไข้สูง พบผื่น จุดแดง ซึม อ่อนเพลีย ปวดท้องที่ชายโครง รวมถึงคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งโรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากมีไข้สูง ไม่ทราบสาเหตุควรรีบพาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาและมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูก เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด การสัมผัส
และคลุกคลีกับผู้ป่วย มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงมีการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สำหรับการเฝ้าระวังเพิ่มเติม คือ ควรกำจัดแหล่งน้ำขังที่สามารถเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคไข้เลือดออกอีกด้วย เมื่อดูแลและเฝ้าระวังแล้ว แต่พบลูกมีอาการผิดปกติ แนะนำให้พามาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น