กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในหลายจังหวัดภาคกลาง เชื่อมโยงตลาดย่านบางแค ด้านสถานกักกัน ตม.บางเขน ไม่พบติดเชื้อเพิ่ม ส่วน 2 จังหวัดติดเชื้อรายแรกในระลอกใหม่ “ศรีสะเกษ” เชื่อมโยงตลาดย่านบางแค “มุกดาหาร” มาจากบางบอน และ บางขุนเทียน สอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสเข้ารับการกักตัวแล้ว
วันนี้ (18 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 92 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 64 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 14 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 18 มีนาคม 2564 มีผู้รักษาหายสะสม 22,200 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 1,028 ราย และเสียชีวิตสะสม 29 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุด เป็นชายไทยอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว คือ มะเร็งโคนลิ้นและมะเร็งปอดระยะที่ 4 วันที่ 15 มีนาคม 2564 เข้ารักษาด้วยอาการไข้สูง หายใจเหนื่อย อาการแย่ลง และเสียชีวิต
ทั้งนี้ การติดเชื้อในประเทศวันนี้จำนวน 78 ราย กระจายใน 11 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นครปฐม เพชรบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ และ มุกดาหาร ซึ่งจังหวัดในภาคกลางที่พบการติดเชื้อส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงจากคลัสเตอร์ตลาดย่านบางแค สำหรับสถานการณ์ของกรุงเทพมหานครวันนี้รายงานผู้ติดเชื้อ 21 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 20 ราย และการค้นหาเชิงรุกตลาดย่านบางแค 1 ราย ส่วนกรณีการติดเชื้อภายในสถานกักกันตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบางเขน ไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มเติม ยังคงที่อยู่ที่ 68 ราย สำหรับการปฏิบัติตัวของประชาชนเพื่อป้องกันโรค ขอให้คงมาตรการเว้นระยะห่างสวมหน้ากาก และล้างมือ
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อในระลอกใหม่มาก่อน พบการติดเชื้อรายแรกใน 2 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ เป็นแม่ค้าขายผักอายุ 49 ปี จากตลาดย่านบางแค มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 23 ราย และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 5 ราย และมุกดาหาร เป็นหญิงไทยอายุ 52 ปี เดินทางกลับมาจากบางบอน และ บางขุนเทียน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 17 ราย เก็บส่งตรวจทุกราย ทราบผลแล้ว 1 ราย ไม่พบเชื้อ ส่วนอีก 16 ราย อยู่ระหว่างรอผลทางห้องปฏิบัติการ โดยทั้ง 2 กรณีสามารถดำเนินการสอบสวนโรคได้ชัดเจน ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อกักตัว 14 วันและตรวจหาเชื้อได้ตามระบบที่วางไว้
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับการผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 17 มีนาคม 2564 รวม 58,024 โดส ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายจังหวัดฉีดกลุ่มเป้าหมายครบกำหนดแล้ว เหลือสมุทรสาคร และ กรุงเทพมหานคร ที่กำลังเร่งดำเนินการฉีดเพื่อไม่ให้มีความทับซ้อนในการบริหารจัดการนัดมารับวัคซีนเข็มที่ 2 ที่จะเริ่มทยอยฉีดในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด จึงฉีดในกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ประชาชนที่มีโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยวัคซีนซิโนแวคฉีดในผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี ตามข้อมูลการวิจัย และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากยังมีจำนวนจำกัด แต่เมื่อมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนมากขึ้น คือ 26 ล้านโดส ที่จะทยอยส่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็จะนำมาฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ได้เป็นการฉีดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี เพียงอย่างเดียวเท่านั้น