กระทรวงสาธารณสุข แจงแนวทางควบคุมโรคโควิด-19 บริเวณตลาดย่านบางแค ใช้ปทุมธานีโมเดล ปิดตลาดทำความสะอาด ปรับปรุงสุขาภิบาล ตรวจหาเชื้อโควิด ฉีดวัคซีนผู้ค้าและแรงงาน ออกใบรับรองเข้าออกตลาด ย้ำหากพบเชื้อนำเข้ารักษา แยกกักผู้สัมผัส ค้นหาเชิงรุกชุมชนโดยรอบ 1 สัปดาห์ ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีความปลอดภัย ล่าสุดพบป้องกันป่วยในคนอายุมากกว่า 80 ปี ร้อยละ 80
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าวันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 149 ราย มาจากระบบบริการในโรงพยาบาล 21 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 123 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รักษาหายเพิ่มขึ้น 65 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 22,917 ราย รักษาหายสะสม 22,122 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.53 อยู่ระหว่างการรักษา 768 ราย และเสียชีวิตสะสม 27 ราย ทั้งนี้ การติดเชื้อภายในประเทศวันนี้กระจายใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 100 ราย สมุทรสาคร 34 ราย ปทุมธานี 4 ราย นครปฐม 3 ราย ราชบุรี 1 ราย และเพชรบุรี 1 ราย
สำหรับแนวทางการควบคุมโรคหลังพบการติดเชื้อบริเวณตลาดย่านบางแค ขณะนี้สำนักงานเขตได้ดำเนินการปิดตลาด 6 แห่งที่เชื่อมต่อกัน ได้แก่ ตลาดใหม่บางแค ตลาดแสงฟ้า ตลาดศิริเศรษฐนนท์ ตลาดวันเดอร์ ตลาดกิตติ และตลาดบางแค เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-18 มีนาคม 2564 เพื่อทำความสะอาดและปรับปรุงสุขาภิบาล รวมทั้งจัดระเบียบการเข้าตลาด ซึ่งอาศัยโมเดลของ จ.ปทุมธานี คือ ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด ฉีดวัคซีนแก่ผู้ค้าและแรงงานก่อนเปิดตลาด ออกใบรับรองเข้าออกตลาดโดยสำนักงานเขต หากตรวจพบเชื้อให้นำเข้ารักษาและแยกกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทำความสะอาดจัดการสุขาภิบาลตลาด ค้นหาเชิงรุกในชุมชนหลังตลาดย่านบางแคและชุมชนตรงข้ามตลาดบางแค 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นสุ่มตรวจเดือนละ 1 ครั้ง เจาะเลือดเฉพาะผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ติดเชื้อ และติดตามแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ส่วนการขยายเวลาปิดตลาดเพิ่มเติมอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
“แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตลาดย่านบางแค แต่ทีมสอบสวนโรคยังคงทำงานในด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีปทุมธานี แม้สถานการณ์จะเบาบางลง อ.แม่สอด และจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย รวมถึงยังมีการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ส่วนความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2564 ฉีดแล้ว 50,388 คน คิดเป็นร้อยละ 54 ของเป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มแรก โดยมี 9 จังหวัดที่ดำเนินการฉีดได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ เชียงใหม่ ตาก สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ส่วนที่ใกล้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ นนทบุรี และปทุมธานี เหลือสมุทรสาครที่มีแล้วมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และกรุงเทพมหานครที่กำลังเร่งการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่
สำหรับวันนี้มีการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และอาจารย์แพทย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน เนื่องจากมีความชัดเจนแล้วว่าอาการลิ่มเลือดอุดตันไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ โดยหลังรับวัคซีนเข็มแรก 22 วัน จะสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลรวมถึงป้องกันการเสียชีวิตได้ ป้องกันอาการป่วยจากโควิดร้อยละ 76 ยาวนานอย่างน้อย 90 วัน และมีประสิทธิผลสูงขึ้นเป็นร้อยละ 81.39 เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในระยะห่าง 12 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาล่าสุดในอังกฤษพบว่า ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป สามารถลดอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้มากถึงร้อยละ 80 หลังจากการฉีดเข็มแรก
“แม้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ก็ยังต้องคงมาตรการป้องกันโรคที่เคยทำกันมา ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะเห็นได้จากหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้วก็ยังมีพบการติดเชื้อวันละเกือบ 400 ราย ยอดสะสมประมาณ 9.6 หมื่นราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ราย หรืออย่างอิตาลีก็เตรียมล็อกดาวน์ทั่วประเทศช่วงอีสเตอร์ แม้ยุโรปจะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรค่อนข้างมากแต่ก็อาจมีการระบาดระลอกใหม่ ดังนั้น การ์ดอย่าตกจึงมีความสำคัญ” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว