สศร.แจงจัดซื้อผลงานศิลปะโปร่งใส-คุ้มค่า หวังให้เป็นสมบัติชาติ ไม่แสวงกำไร เป็นต้นแบบให้กับศิลปินรุ่นใหม่
วันนี้ (12 มี.ค.) จากกรณีมีกลุ่มบุคคลในวงการศิลปะ ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดซื้อผลงานศิลปะร่วมสมัย ของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และให้ข้อมูลกับสื่อ จนนำไปสู่ความเข้าใจคลาดเคลื่อนนั้น ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า จากการประชุมหารือกับ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน สศร. จึงขอชี้แจงถึงข้อมูลข้อเท็จจริงในการดำเนินงานจัดซื้อภาพผลงานศิลปะร่วมสมัย ว่า การจัดซื้อผลงานศิลปะร่วมสมัยดังกล่าว สศร. ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และภารกิจที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เช่นทุกปีที่ผ่านมา เพื่อนำมิติทางศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลายมาต่อยอดและสร้างมูลค่า ตลอดจนพัฒนาศักยภาพและผลงานของศิลปินไทย สำหรับการสะสมผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปีนไทยนับเป็นโครงการหนึ่ง ซึ่งการสะสมผลงานของศิลปินไทย ทั้งศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินรุ่นกลาง ศิลปินอาวุโส ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เอาไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อแสดงให้เห็น ศักยภาพ และพัฒนาการในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินไทย ภายใต้บริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัย จนกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงถ่ายทอดให้เห็นความก้าวหน้าทั้งในเชิงเทคนิควิธี แนวความคิดการสร้างสรรค์ และกระบวนทัศน์ ของงานศิลปะในประเทศไทย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างวงการศิลปะกับสังคมร่วมสมัย
ดร.วิมลลักษณ์ กล่าวว่า ทุกครั้งในการจัดซื้อผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สศร.ได้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านศิลปะ อาทิ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร อาจารย์ผู้สอนศิลปะในระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง ฯลฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณา กำหนดเกณฑ์คุณลักษณะและเงื่อนไข เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการพิจารณาคัดเลือกผลงาน รวมทั้งสืบค้นและดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การคัดเลือกผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปกรรมในเรื่องสุนทรียภาพ ความคิดสร้างสรรค์ที่มีรูปแบบเฉพาะตน มีคุณค่า มีความสำคัญเชื่อมโยงในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีของประเทศ เป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงาน มีการตีพิมพ์ และ/หรือ เคยเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นต้น
“เพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายและขอยืนยันว่า การจัดซื้อผลงานศิลปะทุกครั้งที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ โดยเจรจาซื้อผลงานจากศิลปินทายาทศิลปิน หรือผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย และต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ และราคาผลงานที่จัดซื้อแต่ละชิ้นจะเป็นราคาที่ศิลปีนให้การสนับสนุน เพื่อเป็นสมบัติของชาติมากกว่าการขายเพื่อทำกำไรดังเช่นการขายผลงานศิลปะทั่วไป และผลงานดังกล่าวได้มีการนำมาจัดแสดงนิทรรศการ หมุนเวียนอยู่เป็นระยะโดยเปิดเผย มิได้เลือกปฏิบัติเพื่อศิลปินคนใดคนหนึ่งแต่อย่างใด” ดร.วิมลลักษณ์ กล่าว