ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ถึงแนวทางการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมใน 4 กลุ่มสถานที่ หลังจาก ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบผ่อนปรนให้ กทม.จัดเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมได้ดีขึ้น จากเดิมอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เริ่มมีผล 23 ก.พ.เป็นต้นไป
วันนี้ (23 ก.พ.) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2564 โดย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้หารือมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติม หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ของรัฐบาลมีมติกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม โดยให้กรุงเทพมหานครลดระดับเป็น 1 ใน 8 จังหวัดพื้นที่ควบคุม และผ่อนปรนมาตรการที่สำคัญ โดย
ร้านอาหาร สถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงกิจการอาบน้ำ กิจการอาบอบนวด เปิดได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม จำหน่ายสุราได้ โดยให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะนั่ง อย่างน้อย 2 เมตร ไม่อนุญาตให้มีโต๊ะยืน และไม่ให้มีพื้นที่เต้น เพื่อลดความใกล้ชิด ลดการแพร่เชื้อ และปฏิบัติตามาตรการ โดยควบคุมลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ หมอชนะ หรือการลงเอกสารบันทึกอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ สถานประกอบการประเภทยิม ฟิตเนส สถานที่ออกกำลังกาย สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติและสามารถจัด Class ฝึกสอน สนามแข่งขันเปิดให้มีการเข้าชมได้ แต่จะมีข้อกำหนดสำหรับกีฬาแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน การประชุม อบรม สัมมนา จัดเลี้ยง จัดการแสดง สามารถจัดได้แต่มีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 300 คน และถ้าเกิน 300 คน ต้องขออนุญาตสำนักงานเขตก่อน ส่วนโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งสามารถเปิดได้ตามปกติภายใต้มาตรการควบคุม ซึ่งมาตรการผ่อนปรนทั้งหมดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (23 ก.พ. 64) เป็นต้นไป
สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวนั้น แบ่งเป็นการเคลื่อนย้ายแบบถาวร และการเคลื่อนย้ายแบบไป-กลับเพื่อมาทำงาน จะมีมาตรการควบคุมที่แตกต่างกันตามประเภทกิจการ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายสำนักอนามัยกำหนดมาตรการควบคุมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมและชัดเจนโดยเร็ว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ตรวจในตลาด จำนวน 466 แห่ง กลุ่มเสี่ยง จำนวน 44,328 ราย พบผู้ติดเชื้อ 14 ราย ตรวจในสถานประกอบการ 128 แห่ง แรงงานจำนวน 16,777 คน พบผู้ติดเชื้อ 25 ราย ตรวจในชุมชน ประชาชนจำนวน 44,328 คน พบผู้ติดเชื้อ 35 ราย ทั้งนี้ ไม่รวมการตรวจในสถานพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครได้ตรวจไปแล้วกว่า 50,000 ราย และไม่รวมโรงพยาบาลนอกสังกัด แต่อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครยังคงมีการตรวจเชิงรุกในสถานที่ที่เห็นว่ามีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องต่อไป