xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เตือนก๊วนงานเลี้ยงส่วนตัว ดริงก์เดียวก็เสี่ยงติดโควิด-19 ยก 4 เคส กทม.ติดเชื้อพรึ่บ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.ยกเคสงานเลี้ยงพื้นที่ กทม. 4 งาน ทำติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม เตือน ก๊วนปาร์ตี้” แอลกอฮอล์ หลังจากการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา แล้วทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้ดูแลตนเอง-ไม่ได้ระวัง ย้ำร้านอาหารชงมาตรการรัดกุม คุมนักดื่มให้ได้

วันนี้ (5 ก.พ.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชี้แจงถึงปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากการจัดงานเลี้ยงส่วนตัว เนื่องจากร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน โดยยกตัวอย่างการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในกรุงเทพมหานคร ที่เกิดจากการจัดงานเลี้ยงส่วนตัว 4 เหตุการณ์ คือ
1. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้ร่วมงาน 30 คน ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อ 9 คน
2. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้ร่วมงาน 13 คน มีผู้ติดเชื้อ 10 คน
3. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมงาน 7 คน มีผู้ติดเชื้อทั้ง 7 คน
4. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมงาน 16 คน ติดเชื้อทั้งหมด 16 คน

พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของผู้ร่วมงานเลี้ยงส่วนตัว คือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน อยู่ในสถานที่แออัดร่วมงานเป็นเวลานาน ใช้มือหยิบจับอาหารและน้ำแข็ง โดยเฉพาะหลังจากมึนเมา มีการเต้นรำใกล้ชิดกัน ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้ว่า แม้ว่าจะพยายามจัดงานเลี้ยงอย่างรัดกุม มีการเว้นระยะห่าง แต่เมื่อมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป 1-2 ดริงก์ จะเริ่มมีอาการเฉื่อยชา การตอบสนองช้าลง และขาดความยับยั้งชั่งใจ เสียการควบคุมตัวเอง เริ่มไม่ระมัดระวังตัวเอง จึงเป็นเหตุผลว่า แม้จะมีมาตรการคุมเข้มอย่างไร ก็จะเกิดการหละหลวม

ซึ่งตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เบียร์จำนวน 1 ดริงก์ เท่ากับเบียร์ขนาด 330 CC แอลกอฮอล์ 4% จำนวน 1 กระป๋อง, ไวน์ 1 ดริงก์ เท่ากับ 1 แก้ว ขนาด 100 CC แอลกอฮอล์ 12.5%, วิสกี้ แอลกอฮอล์ 40% 1 ดริงก์ เท่ากับ 30 CC หรือ 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ร่วมงานเลี้ยง มักจะดื่มเกินกว่านี้ ดังนั้น หากสถานบันเทิง ร้านอาหาร ที่ต้องการขายแอลกอฮอล์ จะต้องเสนอมาตรการว่าจะควบคุมดูแลอย่างไร ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ

ส่วนการติดเชื้อในสถานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ
1. สำนักงานคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 7 คน ติดเชื้อ 5 คน
2. แผนกหนึ่งในบริษัทแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 10 คน ติดเชื้อ 9 คน

พฤติกรรมเสี่ยงส่วนใหญ่ คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน มีการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ใช้ช้อนกลาง หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยขณะทำงานอยู่ในห้องเดียวกันหรือนั่งรถรับ-ส่งพนักงานคันเดียวกัน

ดังนั้น หลังจากนี้ องค์กรหรือสถานที่ทำงานต่างๆ ต้องยกระดับเข้มข้นให้สวมหน้ากากอนามัยขณะทำงานในห้องเดียวกันด้วย ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมคนไทย
โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลก สำนักงานเอเชียใต้ และ เอเชียตะวันออก พบว่า เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ก็เริ่มมีพฤติกรรมการ์ดตกลงไปด้วย รวมทั้งการเดินทางออกต่างจังหวัดก็มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงผ่อนคลายมาตรการด้วย

นอกจากนี้ ศบค.ยังหารือกันเกี่ยวกับกรณีผู้มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไอจามรดกัน พูดคุยกันเกิน 5 นาที อยู่ในสถานที่ปิดเกิน 15 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องกักตัวเองที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ แต่บางคนไม่กักตัว โดยให้เหตุผลว่า ที่บ้านมีคนอยู่เยอะ หรือสถานที่คับแคบ กักตัวลำบาก ซึ่ง ศบค.จะทบทวนมาตรการเกี่ยวกับสถานที่กักตัวของรัฐ ว่าจะให้ผู้มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ เข้ากักตัวในสถานที่กักตัวแบบสมัครใจได้หรือไม่ ซึ่ง ศบค.จะนำไปหารือกันเกี่ยวกับรูปแบบและค่าใช้จ่าย ในสัปดาห์หน้า




กำลังโหลดความคิดเห็น