กรมควบคุมโรค นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ในย่านชุมชนเขตพื้นที่รอยต่อเขตบางขุนเทียน เขตบางบอน และเขตจอมทอง ที่รอบๆ วัดสิงห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
วันนี้ (19 ม.ค. 2564) ที่วัดสิงห์ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยแพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. และ นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง กทม. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ในย่านชุมชนรอบๆ วัดสิงห์ ซึ่งกรมควบคุมโรค โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตบางขุนเทียน เขตบางบอน และเขตจอมทอง รวมทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขโซนเขตกรุงธนบุรีเหนือ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 (ถนอม ทองสิมา) เขตบางขุนเทียน, ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 (ช่วง นุชเนตร) เขตจอมทอง และศูนย์บริการสาธารณสุข 65 (รักษาศุข) เขตบางบอน ร่วมดำเนินการตรวจเชิงรุกในครั้งนี้ หลังจากมีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นรอยต่อระหว่าง 3 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน และมีแรงงานต่างชาติที่ทำงานในพื้นที่ด้วย จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในครั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยโควิด 19 รวม 386 คน แยกเป็น 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ช่วงเช้า บริเวณบางขุนเทียน ซ.14 จำนวน 170 คน (เป็นแรงงานต่างชาติทั้งหมด) จุดที่ 2 ช่วงบ่าย วัดสิงห์ จำนวน 216 คน (เป็นคนไทยและแรงงานต่างชาติบริเวณรอบๆ วัดสิงห์) ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจเชิงรุกในครั้งนี้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนทุกคนเคร่งครัดในมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง ไม่ไปในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก และเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และขอให้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ ช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422