นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากสถิติในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งประเทศ จากสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ที่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สสส. ได้สานพลังกับภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ ทำชุดข้อมูลสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับประชากรกลุ่มเฉพาะให้กับ ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ คนพิการ ให้มีสุขภาวะที่ดี และที่ต้องเน้นย้ำไปที่กลุ่มผู้สูงอายุอีกครั้ง เพราะประชากรกลุ่มนี้หากได้รับเชื้อจะเสี่ยงเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ
“ การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ มีความเสี่ยงมากกว่ารอบแรก เพราะพบตัวเลขคนติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลให้ดี ครอบครัวที่มีคนในครอบครัวอายุ 60 ขึ้นไปอาศัยร่วมอยู่ด้วย ขอความร่วมมือรักษาระยะห่างในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หรือหากจำเป็นต้องออกไปจริง ๆ ให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง และหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้เลี่ยงการไปในจุดที่พบผู้ติดเชื้อ” นางภรณี กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า โควิด-19 รอบนี้ส่วนมากเป็นการติดเชื้อในประเทศ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงรับเชื้อ และไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น การป้องกันที่ดี คือ ผู้สูงอายุควรอยู่ในแต่ในบ้านให้มากที่สุด ไม่มีความจำเป็นไม่ควรออกไปนอกบ้าน ป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้คนอื่น ๆ ต่อไป โดยมีข้อแนะนำดังนี้ 1.โรงเรียนผู้สูงอายุ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ควรงดกิจกรรมที่รวมกลุ่มกัน เช่น การประชุม การสัมมนา การแข่งกีฬา 2.ผู้สูงอายุต้องหยุดเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถสาธารณะ 3.ผู้สูงอายุควรเลี่ยงพบปะเพื่อนฝูงตามร้านอาหารจนกว่าสถานการณ์จะเบาบางลง 4.ผู้สูงอายุต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง ทุกครั้งที่ไปพื้นที่สาธารณะ 5.ผู้สูงอายุไม่ควรวิตกกังวลจนเกิดเป็นความเครียด เพราะจะกระทบต่อสุขภาพ หากทำทั้ง 5 ข้อนี้ได้จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
“การที่ผู้สูงอายุอยู่บ้านตลอดเวลา แน่นอนจะทำให้รู้สึกเครียด กังวล ว้าวุ่นใจ วิธีที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายอีกทางหนึ่ง คือ เลือกรับข้อมูลข่าวสารเรื่องโควิด-19 เป็นช่วงเวลา เพราะการเสพข่าวเรื่องนี้มากเกินไปอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวจนกระทบต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ควรใช้ชีวิตให้สมดุลนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ทานอาหารวันละ 2 มื้อ เน้นกินผัก-ผลไม้ ออกกำลังกายในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีคนพลุกพล่าน เน้นทำสมาธิ อ่านหนังสือ เพื่อฝึกกายและจิตให้นิ่ง สุดท้ายขอให้คนไทยและเพื่อนร่วมโลกโดยเฉพาะผู้สูงอายุปลอดภัยจากโควิด-19 ที่จะอยู่กับเราในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองให้ดี” ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ กล่าว