วันนี้ (12 มกราคม ) รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงกรณีพบการระบาด ของยาเสพติดชนิดหนึ่ง ที่ถูกเรียกว่า ยาเคนมผง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย และได้รับอันตรายต่อสมองอีกจำนวนหนึ่งว่า ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine) เป็นสารในกลุ่มหลอนประสาท ที่ใช้ในการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว แต่ถูกนำฤทธิ์มาใช้ในทางที่ผิด ซึ่งยาเคจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางโดยทำงานต้านการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor ในสมอง สำหรับผู้ใช้ยาเคจะเกิดอาการต่อจิตประสาท ทำให้การรับรู้ตนผิดปกติไป ในผู้ใช้บางรายจะเกิดอาการประสาทหลอนได้ในช่วงที่เป็นพิษจากสาร
รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อว่า อันตรายของฤทธิ์ยาเคมีความรุนแรงอยู่แล้ว แต่ยังพบผู้ค้ายาเสพติด ปลอมปนสารชนิดอื่นลงไป ซึ่งอาจทำให้สารหลักออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกอารมณ์แตกต่างไปจากเดิม จึงมีการเติมสารหลอนประสาทชนิดอื่นลงไปอีก ทำให้ยิ่งมีฤทธิ์หลอนประสาทที่รุนแรงยิ่งขึ้น และเพิ่มความอันตรายยิ่งขึ้น ซึ่งต้องรอพิสูจน์สารที่ชัดเจนต่อไป อย่างไรก็ตาม การใช้สารเสพติดโดยเฉพาะกลุ่มสารที่ไม่ทราบชนิดที่แน่นอน หรือสารที่ผลิตสังเคราะห์มาใหม่ รวมถึงการใช้สารที่ผสมหลายชนิด มักทำให้เกิดอาการทางกายและทางจิตที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เพราะสารเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน นอกจากอาจมีสิ่งปลอมปนที่เป็นอันตราย
รศ.พญ.รัศมน กล่าวอีกว่า สำหรับสารเสพติดชนิดอื่นแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ กด กระตุ้น หรือหลอนประสาท โดยสารที่มีฤทธิ์กดประสาทและการหายใจ เช่น สารกลุ่ม benzodiazepines (เช่น ยานอนหลับบางชนิด) สารกลุ่มโอปิออยด์ (เช่น เฮโรอีน) โดยโอปิออยด์จะทำให้รูม่านตาเล็ก ท้องผูก หากใช้ปริมาณสูงและใช้สารกดประสาทอื่นหลายชนิดผสมกันจะทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ส่วนสารกระตุ้นประสาท เช่น โคเคน ผลิตจากพืชใบโคคา พบมากในต่างประเทศ ส่วนยาบ้า และไอซ์ พบมากในไทย เป็นสารเมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ ทั้งโคเคน ยาบ้า ไอซ์ มีฤทธิ์ไปเพิ่มการทำงานของสารโดปามีนในสมอง เกิดการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง นอนไม่หลับ บางรายมีอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน บางรายมีอาการคล้ายผู้ป่วยโรคจิตเภท (schizophrenia) อย่างไรก็ตาม ในขนาดยาที่ใช้ในทางการแพทย์ ก็สามารถพบผลข้างเคียงได้ตามชนิดสารที่ใช้คือ ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเร็วขึ้น หายใจช้าลง มีอาการฝันและบางครั้งจะเป็นฝันร้าย กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ
“ผู้ที่พบผู้ใช้สารที่มีอาการเป็นพิษ เช่น หมดสติ หายใจช้าหรือหยุดหายใจ หรือการรับรู้สติสัมปชัญญะสับสน ไม่ทราบวัน เวลา สถานที่ที่ตนอยู่ ให้รีบส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถฉุกเฉิน เพื่อรับยาแก้ เช่น ยา naloxone ที่สถานพยาบาล การได้รับสารเฮโรอีนเกินขนาดหรือกรณีใช้สารที่ยังไม่มียาแก้โดยเฉพาะ ในระหว่างการนำส่งหรือรอรถ จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการกู้ชีพในกรณีหัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจ โดยการทำ CPR ตามมาตรฐานทั่วไปร่วมด้วย” รศ.พญ.รัศมน กล่าว