xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.เผยตัวเลขผู้เสพใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน เสียชีวิตแล้ว 105 ราย อายุต่ำสุด 16 ปี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาธิการ ป.ป.ส. แจงเร่งพิสูจน์สารเคนมผง” หาสาเหตุการเสียชีวิต ชี้ ยาเสพติดปัจจุบันมีส่วนผสมหลายชนิดอันตรายหากใช้เกินขนาด แนะต้องการบำบัดติดต่อ รพ.รัฐ ทุกแห่ง

วันนี้ (12 ม.ค.) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยกรณีการเสียชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนหลายรายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเกิดจากการเสพคีตามีน หรือ “เคนมผง” ซึ่งคาดว่าเป็นการผสมของคีตามีนกับยาเสพติดชนิดอื่น ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจพิสูจน์ถึงสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเสพติดชนิดนี้ โดยการพิสูจน์ทางการแพทย์จากผู้เสียชีวิต และการตรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาส่วนผสมของเคตามีนนมผง ประกอบกับเร่งสืบสวนจับกุมผู้ที่มีความเกี่ยวข้องเพื่อนำมารับโทษทางกฎหมาย ซึ่งถ้าได้รับผลการตรวจพิสูจน์จะรายงานให้ทราบต่อไป โดยขอเตือนภัยผู้ที่ยังใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะการใช้ยาเสพติดหรือสารเสพติดเพียงตัวเดียวก็มีอันตรายแล้ว แต่เมื่อมีการใช้ผสมหลายตัวยา และฤทธิ์ต่างกันยิ่งอันตรายมากขึ้น เพราะอาจทำให้ถึงตายได้

“จากรายงานของเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาสารเสพติดจากการตรวจหาสารเสพติดจากชีววัตถุทางนิติเวชศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ พบว่า ผู้ใช้ยาเสพติดจนถึงแก่ความตายหลายรายเป็นผลมาจากการเสพยาเสพติดหลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยจากการตรวจพบผู้เสียชีวิตเนื่องจากใช้ยาเกินขนาด (overdose) ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2562 จำนวน 105 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย รองลงมาเป็นชาวยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนอายุของผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดพบว่า อายุน้อยที่สุดคือ 16 ปี อายุมากที่สุดคือ 66 ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี และพบว่า แนวโน้มของอายุต่ำสุดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา จะอยู่ในช่วง 16-21 ปี สำหรับชนิดสารเสพติดที่ตรวจพบในผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกิดขนาด พบว่าส่วนใหญ่ตรวจพบสารเสพติด 1 ชนิด ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน สารกลุ่มโอปิเอตส์ (Opiates ได้แก่ เฮโรอีน มอร์ฟีน 6-MAM และโคเดอีน) ยากล่อมประสาท และยาเคตามีน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเสพสารเสพติดร่วมกัน 2 ชนิด และบางคดีเสพร่วมกัน 3 ชนิด อีกด้วย” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาของการใช้สารเสพติด หรือสารออกฤทธิ์ หลายชนิดในเวลาเดียวกัน คือ บางครั้งผู้เสพไม่รู้สึกถึงปริมาณสารที่สูงขึ้นซึ่งทำให้เกิดผลต่อร่างกายรุนแรงได้ ยกตัวอย่าง การใช้สารกระตุ้นประสาท เช่น ยาบ้า ไอซ์ โคเคน ร่วมกับสารที่มีฤทธิ์ง่วงซึม หรือสารกดประสาท เช่น เคตามีน ฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam) ทำให้ฤทธิ์จากสารกระตุ้นประสาทลดลงและการง่วงซึม จะไม่รุนแรงเท่ากับการใช้สารที่มีฤทธิ์ง่วงซึมเพียงอย่างเดียว หรือการเสพสารที่มีฤทธิ์ง่วงซึมหลายชนิดร่วมกัน อาจเสริมฤทธิ์กัน ทําให้ ง่วงซึม หลับลึก ชีพจรช้า ความดันโลหิตต่ำ และอาจหยุดหายใจได้

นายวิชัย กล่าวต่อว่า ขอเตือนผู้ที่ยังเสพยาเสพติดอยู่ว่าการใช้ยาเสพติดหลายชนิดร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างจากการใช้ยาเสพติดแบบเดิมนั้นอันตรายมาก เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งหากต้องการเลิกยาเสพติด หรือต้องการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด สามารถติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 16 แห่ง โรงพยาบาลธัญญารักษ์ 7 แห่ง (โรงพยาบาลเฉพาะทาง) หรือขอรับคำปรึกษาด้านการบำบัดได้ที่ สายด่วน 1165 หรือโทรปรึกษาสถานบำบัดและแจ้งเบาะแสยาเสพติด ได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น