“รมว.ศธ.” เรียกประชุมใหญ่ “ข้าราชการระดับซี 9 ขึ้นไป-ศึกษาธิการจังหวัด” 18 ม.ค.นี้ รวมพลังเดินหน้าแผนงานโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน เป้าหมายสู่การบูรณาการการศึกษาระดับจังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นการร่วมมือจากทุกหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างรากฐานทางการศึกษาระยะยาวอย่างมีคุณภาพ
วันนี้ (8 ม.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ว่า วันนี้ (8 ม.ค.) เป็นการประชุมต่อเนื่อง โดยได้มีการลงรายละเอียดในเรื่องของแผนงานที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เพื่อที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับในการที่จะอธิบายให้ทุกภาคส่วน ได้แก่ ข้าราชการระดับซี 9 และศึกษาธิการจังหวัด ได้รับฟังและรับทราบถึงแนวทางของแผนงาน ในวันที่ 18 มกราคม 2564 โดยที่จะขับเคลื่อนไปทั่วทั้งประเทศ เพื่อเป็นการวางรากฐานการศึกษาของไทยอย่างมีคุณภาพ
“ซึ่งเป็นการขับเคลื่อน เพื่อเตรียมข้อมูลที่เหมาะสมในการนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถึงแนวทางที่จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาการศึกษา และเป้าหมายเพื่อจะพยายามทำให้โรงเรียนเหล่านี้ มีครูครบชั้น ครบวิชา ขณะเดียวกัน ยังมีความหลากหลายในการที่จะปรับหลักสูตรเพิ่มเติม ที่นอกเหนือจากด้านวิชาการนั้น ก็จะเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะอาชีพ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนในการประชุมวันนี้ ยังได้รับรายงานจากสภาการศึกษา ซึ่งได้ทำการลงในพื้นที่เป้าหมายเพื่อตรวจสอบข้อมูล พร้อมกับการทำงานวิจัยในด้านความต้องการต่างๆ รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผลักดัน การเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนนั้น จะมีปัญหาอะไรบ้าง
“ซึ่งผมมองว่า เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เรารับทราบกันอยู่แล้วในเรื่องของการศึกษาไทย แต่ก็จะนำข้อมูลและงานวิจัยเหล่านี้ มาวางเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนในโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ที่จะมีการนำร่องในจังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรกนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ยังต้องรอทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำงบประมาณที่จะวางแผนงาน สำหรับปี 2565 หรือเหลื่อมไปปี 2566 หรือสามารถทำได้ใน ปี 2565 เอง
“ส่วนเรื่องของความเหมาะสมนั้น คงต้องลงไปดูผลได้ผลเสียของชุมชน การจัดเตรียมเรื่องของการจัดรถรับส่ง หรือว่าการวางระบบสาธารณูปโภคเชื่อมต่อเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่หวังว่าภายในสิ้นเดือนนี้ (มกราคม) เราคงเห็นภาพชัดสำหรับโรงเรียนตัวอย่าง หรือโรงเรียนเป้าหมาย เพื่อให้ทั้งประเทศได้เห็นแนวทาง” นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับแผนของกระทรวงศึกษาที่วางไว้นั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ซึ่งเป็นโรงเรียนประถม โรงเรียนที่เป็นตัวอย่างของโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง โดยเป็นโรงเรียนมัธยมที่เราจะทำให้มีความหลากหลายเพิ่มเติมจากด้านวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและของชุมชนในพื้นที่นั้น และโรงเรียน stand alone ซึ่งมีอยู่หลายพันโรงเรียนนั้น โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณใส่เข้าไป เพื่อทำให้โรงเรียน stand alone เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ
“โดยทั้ง 3 ส่วนเป็นการยกระดับคุณภาพ ทั้งโรงเรียน ประถมมัธยมและโรงเรียนที่ อยู่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล” นายณัฏฐพล กล่าว