โฆษก ศบค.เผยร่างมาตรการควบคุมพื้นที่สีแดง เตรียมเสนอนายกฯ เซ็น ให้ร้านอาหารเปิดได้ แต่มีมาตรการควบคุมเคร่งครัด จำกัดจำนวนคน งานแต่งงานจัดได้ แต่ต้องขออนุญาต ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ต้องผ่านด่านคัดกรอง ขอความร่วมมือให้งดการเดินทางโดยไม่มีเหตุจำเป็น ห้างสรรพสินค้ายังเปิดเวลาปกติได้
วันนี้ (3 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยระหว่างการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย เกี่ยวกับร่างประกาศฉบับที่ 6 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้ยังคงเป็นร่าง ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเมื่อเช้านี้ได้นำมาพุดคุยกันอีกรอบ หลังจากที่มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้และมีการแถลงออกไป ก็ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมงหลังจากนั้นมา เพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรการที่จะออกไป โดยจะดูจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่มีมา และได้เข้าใจถึงจังหวัดต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันไป จึงได้มีการปรับแก้เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบก่อน
สำหรับร่างประกาศฉบับที่ 6 ดังกล่าวจะมี 8 ข้อ ซึ่งจะใช้กับพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงที่จะประกาศ 28 จังหวัด โดยข้อที่ 1. เป็นเรื่องการห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการห้ามใช้อาคารในโรงเรียน-สถานศึกษา ข้อที่ 2. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น ประชุมสัมมนา จัดเลี้ยง แจกจ่ายอาหาร เว้นแต่เป็นการดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ส่วนการจัดงานแต่งงานก็มีการเปิดช่องให้จัดได้โดยต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ และมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ข้อ 3. การปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง
ส่วนเรื่องร้านอาหาร อยู่ในข้อที่ 4. เงื่อนไขการเปิดดำเนินการในเขตที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการหรือการทำกิจกรรมดังต่อไปนี้ เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่างๆ ที่กำหนด (1) การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดรูปแบบและการกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสม นั่นก็คือ การให้อำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประกอบกิจการร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการพบว่ามีการแพร่เชื้อก็จะต้องห้ามและให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว แต่พื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปก็อาจยังให้นั่งรับประทานได้โดยมีมาตรการดูแล (2) สำหรับการจำหน่ายสุรา ร้านอาหาร สถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ส่วนห้างสรรพสินค้ายังเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ
ข้อที่ 5 มาตรการเหมาะสมสำหรับสถานที่ เป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดหรือเปิดสถานที่ต่างๆ นอกเหนือจากที่กำหนดได้
ข้อ 6 เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ยังไมได้ห้าม แต่ให้มีการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น สรุปเป็นการขอความร่วมมือไม่ได้ห้ามการเดินทาง ถ้ามีธุระจำเป็นก็เดินทางได้ แต่อาจจะมีความไม่สะดวก มีการตั้งด่านตรวจบ่อยขึ้น
ข้อ 7. เป็นการให้ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาสลับวันเวลาการทำงานอย่างเต็มที่ และ ข้อ 8. ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายข้อบังคับการใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่บังคับใช้ สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้ เหมาะสมตามสถานการณ์เห็นสมควร
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ทาง ศบค.มีการประชุมเมื่อเช้าวานนี้ (2 ม.ค.) ได้เสนอให้มีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นโดยเสนอให้ 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมี กรุงเทพมหานคร, ตาก, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครนายก, กาญจนบุรี, นครปฐม, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, สมุทรปราการ, จันทบุรี, ชลบุรี, ตราด, ระยอง, ชุมพร และระนอง
พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี และพังงา
ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 38 จังหวัด ถูกยกระดับเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง
ขั้นที่ 1 จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ค้นหาจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด สถานการศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์ ให้มีการทำงานจากที่บ้านทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค. กำหนด มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุม เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสวยสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของ สธ.
โดยกำหนดห้วงการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. เวลา 06.00 น. ถึง 1 ก.พ. เวลา 06.00 น.
ขั้นที่ 2 จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษายังคงหยุดการเรียนการส้อนเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งรัดและเพิ่มการทำงานจากบ้านอย่างเต็มขีดความสามารถ เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมที่เสี่ยง กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถานในพื้นที่ที่กำหนด
โดยห้วงเวลาดำเนินการยังไม่กำหนดเพราะต้องรอดูสถานการณ์หลังมาตรการขั้นตอนที่หนึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว