xs
xsm
sm
md
lg

เช็กด่วน! ศบค.จ่อยกระดับประกาศ 28 จังหวัดสีแดง คุมเข้มโควิดทั่วประเทศ เริ่ม 4 ม.ค.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.เตรียมใช้ยาแรง หลังแนวโน้มโควิด-19 ระบาดเพิ่มไม่หยุด ออกมาตรการเข้มข้นขึ้น จัดกลุ่ม 28 จังหวัดสีแดง เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ถัดออกไปเป็นพื้นที่สีส้ม 11 จังหวัด อีก 38 จังหวัดเป็นสีเหลือง ยกเลิกสีเขียวป้องกันการ์ดตก ชี้ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นพื้นที่เข้มงวดมากขึ้น เริ่ม 4 ม.ค. 64 ถึง 1 ก.พ. 64

วันนี้ (2 ม.ค.) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค. ) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (EOC) วันนี้ มีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า ผู้ติดเชื้อหลายคน ทราบว่า ตนเองไปจุดเสี่ยง แต่ไม่กักตัว ไม่แยกตัวจากผู้อื่น ไม่เข้ารับการรักษา และยังคงมีการลักลอบเล่นการพนัน-มั่วสุม จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการเพิ่มขึ้น ประชาชนบางส่วนขาดความระมัดระวังในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค

ขณะนี้ประเทศไทยพบติดเชื้อแล้วใน 53 จังหวัด ถ้ายังใช้มาตรการอย่างที่ใช้อยู่ อาจจะมีหลายจังหวัดติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการในขณะนี้ ให้เข้มข้นขึ้น สำหรับการแบ่งพื้นที่จะเป็น

พี้นที่ควบคุมสูงสุด (โซนสีแดง) 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง กรุงเทพมหานคร

พื้นที่ควบคุม (โซนสีส้ม) 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พังงา

พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีเหลือง) ได้แก่ 38 จังหวัดที่เหลือ



ทั้งนี้ จะมีมาตรการที่กําหนดให้ดําเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 : จํากัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ, ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทําผิดกฎหมาย, หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก, ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด, สถานการศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์, ให้มีการทํางานแบบ Work from Home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค.กําหนด, มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของ สธ.
- ห้วงเวลาดําเนินการ : 4 ม.ค. 64 เวลา 06.00 น. ถึง 1 ก.พ. 64 06.00 น.

หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะดำเนินการ ขั้นที่ 2 : จํากัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจํากัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย), ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทําผิดกฎหมาย, งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก, เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด, สถานศึกษายังคงหยุดการเรียนการสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจําเป็น, เร่งรัดและเพิ่มการทํางานแบบ Work from Home อย่างเต็มขีดความสามารถ, เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่เสี่ยง, กิจกรรม/กิจการที่เสี่ยง, กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง, จํากัดเวลาออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในพื้นที่ที่ ศปก.จังหวัดกําหนด
- ห้วงเวลาดําเนินการ : ตามที่นายกรัฐมนตรี/ผอ.ศบค.เห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯ ในกรอบเงื่อนไข ที่ ศบค.กําหนด

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีการนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เพื่อลงนามและประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.เป็นต้นไป


อนึ่ง การประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (EOC) วันนี้ มีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีข้อสรุปดังนี้

1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ ทําให้จํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายไปตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยมีรูปแบบการแพร่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น ดังนี้
1.1 ผู้ติดเชื้อหลายคน ทราบดีว่าตนเองได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรม ที่เสี่ยงการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักกันตนเอง (Self Quarantine) หรือไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือไม่เข้าไปปรึกษาแพทย์ ทําให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่างๆ
1.2 ยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาด นอกจากนั้น ยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่ง ไปยังที่หนึ่งอีกด้วย


2. จํานวนผู้ติดเชื้อและมีอาการ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลมีจํานวนมากขึ้น จนกระทั่งขีดความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งด้านบุคลากรและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงจํานวนมาก มีความจําเป็นต้องทบทวนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในภาพรวม

3. ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งยังขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ ศบค.ขอความร่วมมือ จึงมีความจําเป็นต้องบูรณาการการดําเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นภาพรวม






กำลังโหลดความคิดเห็น